วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

เปิดโลกมืดด้วยหนังสือเสียง


เปิดโลกมืดด้วยหนังสือเสียง
โยธิน อยู่จงดี

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ คำคำนี้สามารถใช้ได้กับทุกคน เว้นแต่ผู้พิการทางสายตาจำนวนกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย ที่ขาดโอกาสทางการมองเห็นโลกกว้างและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยตาของเขาเอง ข้อมูลข่าวสารเดียวที่เขาสามารถรับรู้ได้ก็คือข้อมูลทางการฟังและการสัมผัส โดยมี 2 สื่อ สำหรับผู้พิการทางสายตาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนก็คือ หนังสือเบรลล์ และหนังสือเสียง

สำหรับหนังสือเบรลล์นั้นค่อนข้างไปได้ด้วยดี มีโปรแกรมและเครื่องพิมพ์ที่จะเปลี่ยนจากตัวอักษรปกติไปเป็นอักษรเบรลล์ได้อย่างรวดเร็ว แต่หนังสือเสียงนั้นอย่างไรเสียก็ต้องใช้ “คน” ในการอ่านหนังสือแต่ละเล่มจนจบ เพราะใช่ว่าผู้พิการทางสายตาทุกคนจะสามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดโครงการสร้างหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการผลิตหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการหนังสือเสียง “พรจากฟ้า” ของบริษัท การบินไทย หรือ โครงการ “อ่านหนังสือ เพื่อคนตาบอดไทย” ของร้านบีทูเอส หรือจะเป็นโครงการผลิตหนังสือเสียงของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเอง ก็ล้วนแต่เปิดมาเพื่อรอนักอ่านคนดี มาร่วมแบ่งปันความสุขให้ผู้พิการทางสายตาด้วยกันทั้งสิ้น

คำแนะนำจากนักอ่านใจดี

เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงที่หญิงสาว 2 คนได้เข้าไปนั่งอ่านหนังสือเรื่องดอกแก้ว ซึ่งเป็นหนังสือนวนิยายที่ห้องอัดเสียงจัดเตรียมไว้ให้ ปิ่นปัญญา เรียงรุ่งโรจน์ ผู้ช่วยนักวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้ามาอ่านหนังสือเสียงเป็นครั้งแรก หลังจากถูกหว่านล้อมอยู่นานจากรุ่นน้องผู้แสนน่ารักคนหนึ่ง

“การเข้ามาอ่านหนังสือเสียงที่นี่เป็นครั้งแรก หลังจากที่รุ่นน้องในที่ทำงานชวนให้มาอ่านอยู่หลายเดือน เพราะน้องเขาก็เข้ามาอ่านหลายครั้ง วันนี้พอเราได้เข้ามาอัดเสียงแล้วเรารู้สึกว่า เราภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ก่อนเราอ่านหนังสือคนเดียวก็อ่านในใจไปได้เรื่อยๆ แต่พอมาอ่านหนังสือเสียงเราต้องอ่านให้ดี ให้ชัดเจน ไม่ขาดตกบกพร่อง ต้องนึกถึงคนฟังตลอดเวลา

“การอ่านหนังสือเสียงนั้นจะต่างกับการอ่านหนังสือทั่วไปที่เราอ่านในใจ ซึ่งเราจะอ่านได้เร็วกว่าและไม่ต้องสนใจเรื่องการออกเสียงมากนัก แต่พอเรามาออกเสียงจะกลายเป็นคนละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกเสียง ร.เรือ ต้องชัดเจน คำควบกล้ำ ล.ลิง ต้องไม่ช้า ไม่เร็วจนเกินไป จึงกลายเป็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้ามาอ่านได้ทั้งหมด บางคนที่มีปัญหาเรื่องสำเนียงการอ่านไม่ชัดเจนจะกลายเป็นปัญหาสำหรับการฟังของคนตาบอดได้

“ทางที่ดีก็คือ ควรจะซ้อมก่อนการอ่านทุกครั้งถ้าเป็นไปได้ เพื่อความรวดเร็วในการอ่าน แรกๆ คงจะมีติดขัดบ้าง คิดว่าถ้ามาอัดเสียงครั้งต่อๆ ไปเราจะอ่านได้คล่องขึ้น” ปิ่นปัญญา เล่าอย่างมีความสุข หลังออกมาจากห้องผลิตหนังสือเสียงบีทูเอส เพื่อคนตาบอด ชั้น 3 สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

การผลิตหนังสือเสียงที่บีทูเอส

เจ้าหน้าที่ประจำห้องผลิตหนังสือเสียงบีทูเอส บอกว่า คิวอัดเสียงของเดือน พ.ย. ได้ถูกจองจนเต็มตั้งแต่เดือนที่แล้ว มีทั้งคนเก่าคนใหม่ผลัดกันเข้ามาอ่านไม่ขาดสาย โดยเราจะเปิดให้อาสาสมัครลงชื่อเพื่อจองห้องอัดเสียงไว้ล่วงหน้า 1 เดือน เพราะมีคนให้ความสนใจสมัครอ่านหนังสือเสียงเป็นจำนวนมาก

สำหรับเครื่องไม้เครื่องมือในการอ่านมีเพียงคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟน และซอฟต์แวร์สำหรับอัดเสียง ผู้ที่เข้ามาใช้งานครั้งแรกเราจะแนะนำการใช้งานซอฟต์แวร์ในเบื้องต้น ซึ่งการใช้งานนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะตัวซอฟต์แวร์ในห้องอัดเสียงอย่างโปรแกรม Plextalk เองก็จัดว่าง่ายต่อการใช้งาน มีลูกเล่นในการตัดต่อเสียงสำหรับการอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดโดยเฉพาะ

สิ่งสำคัญก็คือ การอ่านออกเสียงต้องชัดเจน ไม่ดัง ไม่ค่อยจนเกินไป ร.เรือ คำควบกล้ำ การเว้นวรรค ต้องชัดเจน การอ่านเว้นวรรคที่ผิดจะทำให้ความหมายนั้นผิดเพี้ยนไป เช่น ห้ามสุภาพสตรีใส่กางเกง (วรรค) ในสถานที่ราชการ ความหมายก็ชัดเจน แต่ถ้าเราอ่านเว้นวรรคเป็น ห้ามสุภาพสตรีใส่กางเกงใน (วรรค) สถานที่ราชการ ความหมายจะผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากทีเดียว

พรจากฟ้า ห้องอัดหนังสือเสียงทั่วประเทศ

เราเชื่อว่าการอ่านหนังสือเสียงคงมีนักอ่านหลายคนสนใจอยากจะเป็นอาสาสมัครบ้าง แต่ติดที่ว่าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และยังมีห้องบันทึกเสียงแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น โครงการอ่านหนังสือเสียง “พรจากฟ้า” ของการบินไทย จึงได้สร้างห้องสำหรับอ่านบันทึกเสียงเคลื่อนที่ไว้ถึง 2 ห้อง เพื่อตระเวนไปตั้งไว้ตามจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ให้นักอ่านต่างจังหวัดได้มีโอกาสทำความดีถวายในหลวงบ้าง เพราะโครงการนี้ได้นำหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสือรวมพระราชดำริ มาเป็นหัวข้อหลักในการอ่านเพื่อส่งมอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

ธีระสิน แสงรังษี ผู้จัดการกองบริหารงานข่าว การบินไทย บอกกับเราว่า โครงการอ่านหนังสือเสียง พรจากฟ้า นั้นเป็นโครงการเพื่อให้ผู้พิการทางทางสายตาได้ฟังหนังสือพระราชนิพนธ์ และพระบรมราโชวาทที่สำคัญๆ จากเสียงของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ซึ่งนอกจากอาสาสมัครจะได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ให้ผู้พิการทางสายตาได้ฟังแล้ว ตัวเขาเองก็ยังได้อ่านเรื่องราวดีๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบให้แก่ปวงชนชาวไทยอีกด้วย

“นอกจากนี้ เรายังหวังด้วยว่าเมื่ออาสาสมัครได้อ่านหนังสือแล้ว วันหนึ่งเมื่อเขาเกิดปัญหาชีวิตขึ้นมา เขาอาจจะนำแนวทางพระราชดำรัสไปช่วยแก้ปัญหาชีวิตในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายลึกที่เราได้ตั้งใจทำโครงการนี้ขึ้นมา”

ในการอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอดในโครงการพรจากฟ้านั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของโครงการให้คำแนะนำและเทรนเรื่องการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องในระดับหนึ่งก่อน จากนั้นเวลาอัดเสียงเจ้าหน้าที่จะเป็นคนคอยกำกับการอ่าน ให้ชัดเจนถูกต้องอีกครั้ง เพื่อจะได้นำเสียงที่อาสาสมัครอัดไว้นำไปใช้ได้จริง หรือจะขอสำเนาเสียงใส่แผ่นซีดีกลับบ้านเป็นความทรงจำที่ดีๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตก็ได้

แต่ถ้าไม่สะดวกในการเข้าร่วมโครงการอ่านหนังสือเพื่อคนตาบอดดีๆ ทั้ง 2 โครงการ ชนิดาภา เพ็ชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด บอกว่า ยินดีรับอาสามาสมัครทุกคนเข้าโครงการห้องสมุดเสียง ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีอาสาสมัครจำนวนมากที่เสนอตัวเข้ามาช่วย ซึ่งเราก็ยินดีเปิดรับทุกคน ไม่ว่าจะเข้ามาอ่านในห้องอัดเสียงของทางสมาคม ส่งมาเป็นเทป หรือว่าจะส่งมาเป็นไฟล์ดิจิตอล เรารับได้หมด

เพียงแค่โทรศัพท์มาลงชื่อ เราจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการอ่าน หรือต้องการอ่านหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของทางสมาคมก็เสนอชื่อเข้ามาก่อน เพราะว่าสมาคมเองจะมีการคัดเลือกหนังสือที่ดีที่สุดเท่านั้น เพื่อเก็บไว้ในห้องสมุดเสียงของทางสมาคม อย่างหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ หนังสือที่มีชื่อเสียงระดับโลก และหนังสือที่ให้ความรู้ข่าวสารต่างๆ เป็นต้น

ปัจจุบันโครงการห้องสมุดเสียงของเรามีกำลังผลิตหนังสือเดือนละ 5-10 เล่ม จนถึงปัจจุบันเรามีหนังสือเสียงมากกว่า 5,000 เล่มในห้องสมุดของเราแล้ว

การอ่านหนังสือเสียงนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเริ่มลงมือทำเมื่อไหร่ อย่ามัวแต่รอเพราะโอกาสในการทำความดีนั้นไม่ได้หายากและลำบากเลย แต่ต้องรีบหน่อย เพราะคนที่รออยู่คือผู้พิการทางสายตา ที่รอโอกาสอ่านหนังสือเสียงดีๆ จากทุกๆ คน

โชคดีที่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีด้านเสียงมากมายเข้ามาช่วยในการทำงานง่ายมากขึ้น แต่ก่อนนั้นการหาซื้อวอล์กแมนแต่ละเครื่องราคาสูงหลายพันบาท แต่เดี๋ยวนี้เครื่องเล่นเอ็มพี 3 ราคาไม่ถึง 1.5 พันบาทก็สามารถใช้งานได้ดีเท่ากัน สิ่งที่เรากำลังจะบอกก็คือ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเครื่องเล่นที่มีความสามารถในการอัดเสียง และเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว คุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถช่วยผู้พิการทางสายตานับล้านคน ให้เขาได้ฟังหนังสือเสียงดีๆ สักเล่มด้วยตัวของคุณเอง และต่อไปนี้คือเทคนิคในการทำหนังสือเสียงด้วยตัวคุณเองอย่างง่ายๆ กันครับ

ขั้นตอนการบันทึกหนังสือเสียงด้วยตัวเอง

1.อ่านก่อนสัก 1 รอบ

การซ้อมอ่านหนังสือเล่มที่เราจะทำเป็นหนังสือเสียงก่อนสัก 1 รอบจะช่วยให้การอัดเสียงเป็นไปด้วยความง่ายดายมากขึ้น โดยการอ่านในรอบแรกนั้นเราจะทำเครื่องหมายเว้นวรรคการอ่าน รวมทั้งการมาร์กตำแหน่งสุดท้ายที่เราจะหยุดบันทึกไฟล์เป็นช่วงๆ ในขั้นตอนแรกนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะนอกจากทำให้เรารู้จังหวะตอนอ่านอัดเสียงว่าควรจะหยุดช่วงไหนแล้ว ยังสามารถสร้างอารมณ์ในการอ่านได้ตรงกับเนื้อหาได้ดีขึ้น เช่นประโยคที่สื่อถึงความเศร้า เราจะอ่านเสียงเรียบก็ฟังดูแปลกๆ อยู่ และที่สำคัญก็คือการอัดเสียงจะทำให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น

2.ห้องอัดเสียงอย่างง่ายๆ

คราวนี้ก็มาถึงการหาห้องอัดเสียงกัน ห้องอัดเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาสำหรับอาสาสมัครนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องที่เลิศหรูบุด้วยฉนวนกันเสียงอย่างดี เพียงแต่เป็นห้องในบ้าน หรือที่ทำงานที่มีความเงียบในระดับหนึ่งไม่ต้องถึงกับวังเวง ก็สามารถใช้เป็นห้องอัดเสียงได้แล้ว หรือจะใช้รถยนต์ส่วนตัวไปจอดในที่เงียบสงบอัดเสียงก็ได้เช่นกัน

3.อ่านย่อหน้าละ 1 ไฟล์

หลายท่านสงสัยว่าทำไมต้องอ่านย่อหน้าละ 1 ไฟล์ ความชอบตรงนี้คงต้องยกให้แนวคิดของโปรแกรม Plextalk ของห้องผลิตหนังสือเสียงบีทูเอสเพื่อคนตาบอด โปรแกรมนี้จะใช้การจับเสียงและเซฟของมูลเป็นวรรคๆ และนำมารวมกันเป็นไฟล์เสียงเดียวในขั้นตอนสุดท้าย

ข้อดีของมันก็คือ ถ้าเราอ่านพลาดในวรรคไหนเราก็ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ เพียงแค่ลบไฟล์เสียงที่เราอ่านพลาดออกไปแล้วอ่านประโยคที่ถูกต้องซ้ำอีกครั้ง

คราวนี้ในขั้นตอนการอัดของเราก็เพียงแต่อ่านตามสเต็ปที่เราทำเครื่องหมายในขั้นตอนแรกเอาไว้ พอจบหนึ่งย่อหน้า เราก็บันทึกไฟล์ลงในเครื่องอัดเสียงดิจิตอลแล้วเริ่มขั้นตอนการอัดย่อหน้าต่อไปในไฟล์ใหม่ อาจดูยุ่งยากไปสักหน่อย แต่สำหรับมือใหม่หัดอ่านจะช่วยให้เราไม่ต้องเริ่มต้นอ่านไกลจากจุดที่อ่านพลาดมากนัก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าอ่านได้คล่อง จะเพิ่มเป็น 2 ย่อหน้าต่อ 1 ไฟล์ก็ไม่ว่ากัน

4.ปรับความดังอย่างน้อย 10-20 เดซิเบล

ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยการอัดเสียงที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น โดยอาศัยการฟังระดับความดังเป็นพักๆ ก็ได้ แต่ทั้งนี้คำแนะนำจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยก็คือ อ่านให้ดังและชัดเจนเข้าไว้ ที่เหลือเรายังสามารถนำมาปรับได้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

5.ใช้โปรแกรมรวมเสียง

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการรวมเสียง โปรแกรมที่ใช้ในการรวมเสียงนั้นก็มีอยู่หลายโปรแกรม แต่โปรแกรมที่เราขอแนะนำก็คือ โปรแกรมนีโร เวฟ เอดิเตอร์ (Nero wave editor) โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมตัดต่อเสียงธรรมดาตัวหนึ่งที่ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมากมายนัก แต่สิ่งสำคัญที่คิดว่าทุกคนน่าจะชอบก็คือ เป็นฟรีโปรแกรมที่มักจะแถมมาตอนซื้อเครื่องเขียนแผ่นซีดีหรือดีวีดี โดยเวอร์ชันที่เราแนะนำเป็นเวอร์ชันที่ 6 (ปัจจุบันโปรแกรมนีโรจะอยู่เวอร์ชันที่

เริ่มต้นการรวมไฟล์เสียงเข้าด้วยกันก็เพียงแค่เปิดโปรแกรมนีโร เวฟ เอดิเตอร์ ขึ้นมา...

5.1 ไปที่ File > Open เปิดไฟล์แรกของหนังสือเสียงที่เราอัดไว้ รอสักพักโปรแกรมจะทำการสแกนข้อมูลเสียง

5.2 จากนั้นให้เลือกที่ Edit > Insert File เพื่อเลือกไฟล์เสียงอันต่อไป เอามาต่อกับไฟล์แรก รอโปรแกรมสแกนไฟล์สักพักจะเห็นว่าความยาวของไฟล์เสียงนั้นเพิ่มมากขึ้น ให้เลือกคำสั่ง Edit > Insert File เปิดไฟล์เสียงต่อไปเรื่อยๆ จนจบบท

5.3 จากนั้นให้ทำการเซฟไฟล์ File > Save เลือกนามสกุลไฟล์เป็น Mp3 หรือ Mpeg4 ตั้งชื่อเป็นบทที่อ่าน ปิดไฟล์

จากนั้นให้ทำซ้ำตามขั้นตอนที่ 5.1-5.3 ในบทต่อๆ ไปจนจบเล่ม สุดท้ายในขั้นตอนการเขียนแผ่นซีดีเพื่อส่งไปยังสมาคมคนตาบอดฯ ให้เลือกเป็นโหมดการเขียนข้อมูล แทนการบันทึกเป็นแผ่นเสียง เพราะเมื่อถึงมือสมาคมผู้เชี่ยวชาญในห้องอัดเสียงจะนำไปปรับแต่งอีกครั้งตามความเหมาะสมครับ

ไม่ยากเลยใช่ไหมละครับสำหรับการอ่านหนังสือเพื่อผู้พิการทางสายตาที่คุณเองก็ทำได้ เหตุผลที่ผมให้เลือกใช้เครื่องอัดเสียงดิจิตอลอย่างเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ก็เพราะราคาไม่แพงมาก บวกกับความคล่องตัวใช้งานสูง สำหรับผู้ที่สนใจเป็นอาสาสมัครแต่ไม่มีความรู้เรื่องการใช้โปรแกรมมากนัก อาจจะอัดเสียงตามขั้นตอนที่ 1-3 จากนั้นเซฟใส่คอมพิวเตอร์ ตั้งชื่อไฟล์เรียงลำดับให้ชัดเจนแล้วส่งให้สมาคมคนตาบอดฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดำเนินการต่อให้ก็ได้

เท่านี้เราก็อิ่มบุญ สุขใจ ได้ความรู้ แถมยังได้หัดพูดภาษาไทยที่ถูกต้องกันอีกด้วย

ถ้าเราสนใจอ่านหนังสือเสียงที่บีทูเอส โทร.สอบถามไปได้ที่ 02-646-1270-3 ต่อ 365

โครงการอ่านหนังสือเสียง “พรจากฟ้า” ในช่วงนี้จะตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลแอร์พอร์ต เชียงใหม่ ถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2550 เซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต ถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2550 และที่บริษัท การบินไทย สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 4-11 ธ.ค.

ติดต่อร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียงได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด โทร. 02-583-6518 หรือ 02-962-5818 ต่อ 12, 13, 14
28-11-50

http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=magazine&id=206140