วันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย : ทำไมนักศึกษานิยมไปเรียนที่อินเดียกันน่ะ

ทำไมนักศึกษานิยมไปเรียนที่อินเดียกันน่ะ

ศึกษาต่ออินเดีย:ประหยัดแต่มีคุณภาพ
ประเทศอินเดียได้รับการยอมรับอย่างมากว่าเป็นดินแดน
ของความเชื่อ ปัจจุบันนี้ชื่อเสียงในด้านการศึกษาได้รุดหน้า
ไปมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และอินเดียยังผลิตอุปกรณ์
ในด้านเทคโนโลยีส่งออกเป็นมูลค่ามหาศาลต่อประเทศ
นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญด้านการศึกษาและเทคโนโลยี
กระทั่งมีการจัดอันดับมหาวิทยาในด้านต่าง ๆ ของเอเชีย
มหาวิทยาลัยของอินเดีย เช่น Indian Institute of Technology (IIT)
ก็เป็นสถาบันที่อยู่อันดับต้น ๆ ของเอเชีย เปิดสอนด้านเทคโนโลยี
และวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก
ส่วนในด้านการบริหาร Indian Institute of Management (IIM)
ก็เป็นอันดับหนึ่งของเอเชียในภาวะปัจจุบันการศึกษาที่อินเดียนั้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เพราะที่นั่นค่าครองชีพจะไม่สูง แต่ในด้านการศึกษานั้นมีคุณภาพสูง สภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนถือว่าดีเยี่ยม เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีหอพักหรือบ้านพักใกล้มหาวิทยาลัยของแต่ละแห่ง ในช่วงปิดภาคเรียนจะเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะอินเดียขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหนึ่งของการท่องเที่ยวของโลก มีทั้งทะเลทราย แม้กระทั่งหากชอบเล่นสกี ก็มีให้สนุกในฤดูหนาว การศึกษาดี มีการท่องเที่ยว จึงเป็นกำไรสำหรับการศึกษาต่อในต่างประเทศ

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเสมอกับนักศึกษาต่างชาติที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เพราะอินเดียนั้นจะให้โอกาสนักศึกษาต่างชาติไม่ต้องสอบเข้า แต่จะมีโควตาให้แต่ละประเทศ และไม่ต้องใช้ TOEFL, IELTS (ยกเว้นบางมหาวิทยาลัย) ในการสมัครเรียน นักศึกษาไทยจึงมีความสุขมากในการได้เข้าเรียน แต่พอเรียนไปใกล้สอบนักเรียนไทยดูจะเป็นประเทศแรกที่ไม่ค่อยสบาย (ใจ) เพราะภาษาไม่ค่อยจะแข็งแรง ส่วนการเรียนในห้องอาจารย์จะชอบถามนักเรียนจากชาติต่างๆ แต่พอมาเจอนักเรียนไทย ซึ่งมักจะชอบใช้สัญลักษณ์ของประเทศไทยในการตอบคำถาม คือ Land of smile (ยิ้มอย่างเดียว) จนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะเข้าใจนักศึกษาไทยเป็นอย่างดี และการศึกษาในอินเดียนั้นไม่ใช่จะมีแต่การศึกษาเท่านั้น แต่วิธีการในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าก็ถูกสอนเสมอ ดังคำที่ว่า (Simple living and high thinking) “อยู่อย่างเรียบง่าย แต่คิดให้สูงๆ” นั่นเอง

การศึกษาที่นั่นจะมีหลายสาขาให้เลือกเรียน แต่ที่นักเรียนไทยให้ความสนใจคือในด้าน
ศาสนาปรัชญา เทคโนโลยี การเมืองการปกครอง การค้าและการบริหาร
แต่เห็นจะมีมากคือนักเรียนระดับมัธยม ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี
นักเรียนในระดับนี้จะอยู่โรงเรียนประจำโดยส่วนมาก มหาวิทยาลัยที่มีสาขาเปิด
สอนให้เลือกหลากหลายที่น่าสนใจ เช่น Delhi University, Jawaharlal Nehru University,
Pune University เป็นต้น ในส่วนของการบริหารและเทคโนโลยีนั้น สถาบัน IIM, IIT
เป็นสุดยอดของอินเดีย

การศึกษาต่อต่างประเทศอย่างมีคุณภาพแต่ประหยัด
ประเทศอินเดียจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Link ที่เกี่ยวข้อง
- กินรี วิงส์ (Kinnaree Wings)
- India Zest Education
- India Colleges and Universities Web Popularity Ranking
- India Educations
- www.rianindia.com/rianindia/
- India IT Training & Education
- www.classroomedu.com (อ.นิรจน์ ไปกับเจ้านี้)

อินเดีย ไอทีอินเดียเริ่มสะดุด

ไอทีอินเดียเริ่มสะดุด


ปัจจุบันอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียเริ่มมีปัญหา เพราะระบบการศึกษาของอินเดียไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ
หลังจากที่ประเทศอินเดียสามารถสร้างความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมไอทีมาได้เกือบสองทศวรรษ โดยมีความเจริญเติบโตจนสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ และมีแนวโน้มว่าความเจริญเติบโตของด้านอุตสาหกรรมไอทีจะสามารถเติบโตได้ในระดับยักษ์ใหญ่ของเอเชียและของโลก

แต่เร็ว ๆ นี้กลับเกิดปัญหาสะท้อนกลับก็คือ จากความเจริญเติบโตนี้ทำให้ประเทศอินเดียไม่สามารถวางแผนผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับความเจริญเติบโตได้ทัน และขาดการวางแผนที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อสังเกตว่า อินเดียสามารถผลิตวิศวกรได้ถึงปีละ 400,000 คน สำหรับโลกอุตสาหกรรมไฮเทค แต่มีเพียง 100,000 คน เท่านั้น ที่สามารถทำงานได้

นายโมฮันดาส บาย ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทอินโฟซิสเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า “ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนแรงงาน แต่เป็นเรื่องการขาดบุคลากรที่มีการฝึกอบรมอย่างดีพอ”

แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีพลเมืองกว่าพันล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้และสามารถติดต่อกับโลกตะวันตกได้

แต่ระบบการศึกษาของอินเดียนั้นมีปัญหา จากการที่นักศึกษามักจะเรียนทางทฤษฎีในชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับฝึกฝนเพราะมีเงินไม่พอที่จะสร้างห้องปฏิบัติการและนักศึกษาห่างจากสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรม ปัญหาก็คือ อุตสาหกรรมไฮเทคนั้นเติบโตเร็วมากจนกระทั่งประชาชนพลเมืองอินเดียจำนวนมากตามความต้องการแรงงานผู้เชี่ยวชาญไม่ทัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทเอชเชนเจอร์ (Accenture) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาไอทีชั้นนำของโลก ซึ่งผู้เขียนก็เคยเป็นผู้บริหารบริษัทนี้มาก่อนในเมืองไทย มีความต้องการจ้างที่ปรึกษาถึง 8,000 คนใน 6 เดือนในอินเดีย และบริษัทไอบีเอ็มต้องการบุคลากรถึง 50,000 คน ภายในปี 2010 แต่ระบบการศึกษาในอินเดียก็ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพได้ทัน

ซึ่งในระยะหลังนั้นบริษัทชั้นนำของโลกเหล่านี้ซึ่งหันไปลงทุนที่ประเทศโปแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

แต่อีกด้านหนึ่งของปัญหาก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้กลับไปส่งผลดีต่อโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรมด้านวิชาชีพด้านไอทีให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น ซึ่งก็คือ การฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่ได้รับปริญญาแล้วก่อนที่จะไปทำงานกับอุตสาหกรรมไอทีจริง ๆ ซึ่งมีทั้งงบประมาณจากภาครัฐ และทางบริษัทเอกชนที่เริ่มขยายกิจการเหล่านี้ได้อย่างจริงจังและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากเพราะมหาวิทยาลัยกลับไม่ใช่คำตอบสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค

ขณะที่เขียนบทความนี้ ชวนให้ผมนึกถึงประเทศไทยเราจริง ๆ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเคยเปรยว่าเราขาดแคลนแรงงานด้านไฮเทคเลยทำให้บริษัทเหล่านี้หันไปลงทุนประเทศอื่น และผมก็เคยเขียนวิจารณ์ในคอลัมน์โลกาภิวัตน์ในช่วงนั้นว่า น่าจะมาจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านไอซีทีมากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้คนเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไอทีมากเหลือเกิน แต่มักจะไปเป็นเสมียนหรือเลขานุการ ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ หรือนักวิเคราะห์ระบบ นี่ขนาดประเทศเราธุรกิจด้านไอทียังต่ำต้อยกว่าประเทศอินเดียมาก

ก็ไม่พูดประชดประชันให้น้อยใจหรอกนะ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิด

แต่กำลังคิดถึงคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งนักคิดและนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษแต่เชื้อสายยิวเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ชื่อ เบนจามิน ดิสราเอลไล (Benjamin Disraeli) ได้กล่าวไว้ว่า

“ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน” หรือ Upon the education of the people of this country,the fate of this country depends. ผมจำได้ไม่ลืม.

แหล่งข้อมูล:ผศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย::บังกาลอร์สร้างตนเป็น Silicon Valley อย่างไร?

บังกาลอร์สร้างตนเป็น Silicon Valley อย่างไร?

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

ถ้าจะศึกษาการเติบใหญ่ของอินเดีย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องดูบังกาลอร์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของเอเชีย เพื่อดูความสามารถสร้างตนเอง ขึ้นมาเป็นศูนย์ผลิต computer software ที่คึกคักและได้มาตรฐานโลก

บังกาลอร์อยู่ในรัฐการ์นาตากา (Karnataka) ทางใต้ของอินเดีย บริษัทยักษ์ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ของโลกล้วนมาตั้งสาขาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น Dell, Microsoft, IBM หรือ Infosys และ Wipro ซึ่งสามารถจ้างหนุ่มสาวอินเดียที่เรียนจบทางด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันที่มุ่งผลิตคนเก่งด้านนี้ เพื่อป้อนตลาดโลกอย่างคึกคัก

บังกาลอร์เป็นศูนย์ของสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และ software ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน

เขาสร้างความโดดเด่นด้านนี้ด้วยการเริ่มที่การ "สร้างคน" เพราะทุกปีมหาวิทยาลัยในอินเดียผลิตนักเรียนที่มุ่งเฉพาะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 20,000 คน

มหาวิทยาลัย Indian Institute of Science ที่บังกาลอร์ มีชื่อด้านรับเฉพาะ "หัวกะทิ" ของเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยมาเรียนหนักทางด้านเทคโนโลยีระดับสูง รัฐบาลอินเดียให้เงินอุดหนุนเพื่อฝึกฝนเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างเต็มที่

บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ทั่วโลกรู้ว่า คุณภาพของเด็กที่จบจากที่นี่มีความเก่งกาจสามารถ และบริษัทเจาะหาคนมีรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรียกว่า head-hunters ต่างก็รู้ว่า ถ้าได้เด็กจากที่นี่ เขาจะได้ "ช้างเผือก" ไปทำงานให้กับลูกค้าของตัวเอง

แม้กระทั่งองค์การอวกาศชื่อดังของอเมริกา NASA ก็ยังมาแสวงหาคนทำงานรุ่นใหม่ๆ จากที่บังกาลอร์นี่แหละ

วันนี้ บังกาลอร์ชนะ Silicon Valley ของอเมริกาที่เป็นแม่แบบด้วยซ้ำไป เพราะจำนวนวิศวกรที่บริษัทน้อยใหญ่ในบังกาลอร์จ้างนั้นมีมากกว่า 150,000 คน ซึ่งสูงกว่าของซิลิคอน วัลเลย์แล้ว

บังกาลอร์เริ่มวางรากฐานของการเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีเมื่อ 1986 อันเป็นปีที่บริษัท Texas Instruments จากอเมริกาไปตั้งศูนย์กลางวิจัยวิศวกรรมเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่ออเมริกาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทไฮเทคของมะกันใหญ่ๆ ต่างก็ย้ายคนมาทำงานที่บังกาลอร์ เพราะค่าแรงถูกและหาคนมีความรู้ความสามารถด้านนี้ได้ง่ายกว่า

อีกทั้งนักคอมพิวเตอร์และวิศวกรอินเดียที่ไปทำงานอยู่สหรัฐในช่วงนั้น พากันอพยพกลับบ้าน เพราะหางานทำในอเมริกายากเย็นขึ้น ส่วนใหญ่ไปตั้งหลักที่บังกาลอร์

และเพราะเกิดกรณีความกลัววิกฤติโลกในปี 2000 ที่เรียกว่า Y2K บังกาลอร์ก็กลายเป็นศูนย์ของการตั้งระบบคอมพิวเตอร์สำรองในกรณีที่ระบบแม่ที่อเมริกาเกิดพังพาบลงมา

ไม่ช้าไม่นาน บังกาลอร์ก็เริ่มส่งออก computer software ไปต่างประเทศ มูลค่าส่งออกล่าสุดไม่น้อยกว่าปีละ 20,000 ล้านเหรียญ หรือ 800,000 ล้านบาท

ไม่ต้องสงสัยว่า เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของอินเดียทางด้านนี้เริ่มที่คน, ตามด้วยคน และจบด้วยคน

อินเดียสามารถผลิตเด็กจบมหาวิทยาลัยปีละไม่น้อยกว่า 3.1 ล้านคน และคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นสองเท่าตัว

จำนวนวิทยาลัยที่สอนเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์จะเพิ่มอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งก็แปลว่า จะมีวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 1,600 แห่ง

เห็นหรือยังครับว่า ถ้าการ "ปฏิรูปการศึกษา" ของเรายังไม่ไปถึงไหน, ก็อย่าได้หวังว่าเราจะตั้งตัวเป็น "ศูนย์กลาง" ของอะไรต่อมิอะไรในภูมิภาคนี้อย่างที่เราได้ยินได้ฟังมาหลายปีก่อน

เพราะก่อนที่เราจะประกาศว่า เราจะทำอะไร, เราต้องถามก่อนว่า "ใครจะทำ?"

อินเดีย::ขุดทองใน "บังกาลอร์" จุดเริ่มต้นในดินแดนไอที

ขุดทองใน "บังกาลอร์" จุดเริ่มต้นในดินแดนไอที

ที่มา : Bizweek กรุงเทพธุรกิจ จากการสัมภาษผู้จัดการ India IT Traning and Education

เมือง "บังกาลอร์" ในอินเดีย ชุมชนคนไอทีที่ทั่วโลกต่างรู้ว่าที่นั่นเป็นขุมทรัพย์ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจไอที ไม่เท่านั้น บังกาลอร์ยังเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยในอีกหลายธุรกิจ อาทิเช่น ร้านอาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภค แม้กระทั่งตลาดการศึกษา


"บังกาลอร์" หรืออีกฉายา "Silicon Valey of India" เมืองศูนย์กลางการผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการส่งออกของอินเดีย หรือที่รู้กันว่าเป็นเมืองที่บุคลากรด้านไอทีฝังตัวมากที่สุดในโลก

เฉพาะแค่โปรแกรมเมอร์ด้าน "SAP" ที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งออกไปทำงานในต่างแดนปีละ 19,000 คน ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างน้อยปีละ 19,000 ล้านบาท ถ้ารวมโปรแกรมเมอร์ในสายอื่นๆ และพนักงานในบริษัทไอทีระดับโลก คงหนีไม่พ้นหลักแสน

พอมองออกว่า "คนไอที" สามารถเป็นกำลังสำคัญในการนำเงินตราเข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ

คนไทยจะมีโอกาสอะไรในเมืองบังกาลอร์บ้าง?....

หากเป็น "ลู่ทาง" ทางด้านการลงทุน สำรวจได้ว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีร้านอาหารไทยไปเปิดในเมืองบังกาลอร์เลย แต่รู้หรือไม่ว่า "ครัวไทย" กลับได้รับความนิยม ถึงขนาดคนอินเดียเข้าคิวต่อแถวเหมือนกับเข้าคิวร้านโออิชิ

"ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นของคนจีน ทำให้รสชาติไม่เหมือนอาหารไทยแท้ๆ คนอินเดียชอบกินอาหารไทยมาก" เป็นคำบอกกล่าวจากอดีตนักเรียนไทยด้านไอทีในบังกาลอร์

อีกทั้ง "สินค้าอุปโภคบริโภค" ของตราสินค้าไทย ยังเป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับบรรดาแขกอินเดียด้วย ไม่ว่าจะเป็นของกิน มาม่า ขนมของกินเล่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพู และสินค้าอีกสารพัดอย่างที่ยังหาซื้อได้ยากมาก

สินค้าพวกนี้หาซื้อได้ที่ "ร้านเจ๊ต้อย" เพียงแห่งเดียว ซึ่งตั้งอยู่ในห้างฟอรัม มอลล์ บนถนน Hosur ซึ่งเป็นชอปปิง มอลล์ ที่ใหญ่ที่สุดในบังกาลอร์

"นักเรียนไทยทุกคนจะรู้จักร้านนี้ สินค้าไทยขายดีมาก แต่ยังไม่มีคนไทยเข้ามาเปิดกิจการร้านอาหารไทย หรือร้านขายของชำเลย จึงมีร้านเจ๊ต้อยอยู่เพียงร้านเดียว" เขากล่าวเสริม

ยังมีอีก 3 ห้างยักษ์ในเมืองนี้ ได้แก่ Garuda Mall, Prestige Eva Mall และ Sigma Mall ที่กำลังปรับตัวจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ มีความทันสมัยมากขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น นับจำนวนชอปปิง มอลล์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกกว่า 11 แห่งที่กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้

เมื่อสำรวจไปที่สถานทูตไทยในอินเดีย เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า รัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในอินเดียได้ 100% โดยไม่มีข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุน

ทว่าการเปิดบริษัทขนาดใหญ่ ต้องเป็นการร่วมทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 51%

ล่าสุด Indian Brand Equaty Foundation (IBEF) ประกาศการลงทุนธุรกิจ "ค้าปลีก" ของต่างชาติในอินเดีย

"Hypercity Ratail" รับเงินอัดฉีดจาก "K Raheja Corp Group" เตรียมเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 55 สาขา ภายในปี 2015 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

"เทสโก้" จับมือกับโฮม แคร์ รีเทล ไพรเวท คาดเปิดร้านเทสโก้ 50 สาขา ในอีก 3 ปีข้างหน้า

แม้แต่ "Reliance" วางแผนลงทุน 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดตัวชอปปิง เซ็นเตอร์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอินเดีย ที่จะขยายเชนทั้งหมด 1,575 แห่ง ภายในมีนาคมปีนี้

ผลพวงจากการรุกคืบธุรกิจค้าปลีก มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อินเดียโตวันโตคืน ปี 2549 โชว์ตัวเลขอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 8%

เทรนด์ของคนทำงานมีรายได้สูงขึ้น "AT Kearney Global Retail Developemnt Index" ชี้ชัดว่า "มีการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า สื่อบันเทิง การพักผ่อนวันหยุด และสินค้าไลฟ์สไตล์สูงขึ้น"

ขนาดที่ว่า "AC Neilson Consumer Confident Survey" ในครึ่งปีแรก 2546 อินเดียขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเติบโตในบรรดา 41 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้นำในบรรดา 14 ประเทศในเอเชียด้วย

อีกทั้งตลาด "การศึกษา" ยังสร้างความคึกคักให้กับบังกาลอร์ด้วย

IBEF รายงานอีกว่า Trieste-based Universita del Caffe สถาบันด้านอาหารที่ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวปีละกว่า 2,000 คน ได้เตรียมเปิดหลักสูตรด้านการชงกาแฟอย่างมืออาชีพในเมืองบังกาลอร์ เนื่องจากมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้น

นี่อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่ง บังกาลอร์ได้กลายเป็นฮับไอทีที่มีความอินเตอร์เนชั่นแนล มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หลายชาติหลายภาษา แค่เพียงของไมโครซอฟท์กว่าครึ่งก็ตั้งหลักอยู่ในเมืองนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟกระตุ้นให้เกิดธุรกิจ

ย้อนกลับมาที่เมืองไอที "บังกาลอร์" ยังเป็นฮับของคนที่แสวงหาความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ควบคู่กับไอที

มีการคาดการณ์ตัวเลขนักศึกษาไทยในบังกาลอร์สูงถึง 1,000 คน

"พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าอินเดียเป็นเมืองไทย ยังไม่ใช่เมืองเป้าหมายของการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อ นักศึกษาส่วนใหญ่เลยจึงมาเรียนปริญญาตรีในหลายๆ สาขา แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้ เป็นการเรียนรู้ด้านไอที" เจ้าของธุรกิจ "India IT Training and Education" กล่าว

นโยบายของรัฐบาลอินเดียที่ส่งเสริมให้บังกาลอร์เป็นศูนย์กลางไอที จึงทำให้มียักษ์ใหญ่อย่าง IBM, HP, Google, Microsoft, Apple,SAP LAB, Dell, Oracle, Wipro และอื่นๆ อีกทั้งยังมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์อย่างมากมายและมีคุณภาพ

"อินเดียมีค่าครองชีพถูกมาก ค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ก็อยู่อย่างสบายๆ บังกาลอร์ยังเป็นเมืองที่อากาศดีอุณหภูมิ 15-25 องศาตลอดปี และขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง "การ์เด้น ซิตี้" เพราะต้นไม้เยอะมาก ขับรถสองข้างทางยังเห็นกระรอกกระแตอยู่เลย หากใครตัดต้นไม้ถือว่าผิดกฎหมาย" เขากล่าว

ธุรกิจของ IITT เปิดให้บริการเป็นตัวแทนจัดหาสถาบันการศึกษาให้คนไทยไปเรียนด้าน IT ที่บังกาลอร์ การเปิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ปรากฏตัวเลขส่งคนไทยไปเรียนเดือนละ 7-8 คน

"เรามีแพ็คเกจที่เหมาะสำหรับคนทำงานที่ต้องการไปฝึกด้านไอทีให้เป็นมืออาชีพ โปรแกรมเมอร์ที่สนใจด้าน SAP, Network" เขากล่าว

SAP เป็นโปรแกรมจัดการองค์กรขนาดใหญ่ที่บริษัทใหญ่ๆ ใช้บริหารจัดการ

บริษัทไทยที่ใช้โปรแกรมนี้ได้แก่ เชลล์, พีทีที, เอ็กซอน โมบาย, เนสท์เล่, การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารต่างๆ, การบินไทย, ฮอนด้า, โตโยต้า, จีเอ็ม, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, กลุ่ม ปตท., กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย, กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และอีกหลายแห่ง

"คนทำงานด้านนี้จะได้เงินเดือนสูงมาก แต่ว่าในเมืองไทยยังไม่มีสอนหลักสูตรด้านนี้ หลักสูตรที่มีอยู่ราคาแพงมาก อย่างหลักสูตร 20 วัน ราคา 300,000 บาท" เขากล่าวเสริม

ต่างจากการไปเรียนที่บังกาลอร์ที่มีคอร์สให้เลือกเรียนมากมายในราคาที่ถูกกว่าเมืองไทยถึง 8 เท่า ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างจากเมืองไทยเลย และยังได้ "กำไร" เป็นดีกรีภาษาอังกฤษกลับมาด้วย

หากว่าความสามารถทางภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ สามารถสมัครไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติที่มาจองตัวนักศึกษาที่จบไปทำงานที่สิงคโปร์ อเมริกา และยุโรปในหลายประเทศ

"ไม่ต้องกลัวตกงาน เพราะหากภาษาอังกฤษยังไม่ดี เราก็กลับมาทำงานในเมืองไทยได้ และยังได้เปรียบมีดีกรีด้านโปรแกรมที่ยังขาดบุคลากรด้านนี้อีกมาก ปกติในการรับสมัครคนทำงานในตำแหน่งนี้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน" เขากล่าว

ในช่วงที่บังกาลอร์กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองสำหรับคนไทย

สายการบิน "นกแอร์" ยังได้ฤกษ์เปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-บังกาลอร์ เป็นสายการบินแรกด้วย ด้วยการให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน แบบไป-กลับ ตลอดสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินโบอิง 737-400 รองรับผู้โดยสารได้ 150 ที่นั่ง เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2550

การที่นกแอร์ประกาศตัวเป็นสายการบิน "Shopper's Airline" ขนคนไทยไปชอปปิงที่นั่น เพราะขึ้นชื่อด้านสาหรี่และผ้าไหมพื้นเมืองที่สีสันตระการตา ยังเป็นโอกาสของอีกหลายบริษัททัวร์ที่สามารถออกแบบแพ็คเกจใหม่ๆ

หากได้ย่ำเท้าไปสูดอากาศเมืองที่ไร้มลพิษอย่างบังกาลอร์สักครั้ง-สองครั้ง

ไม่แน่ คุณอาจ "ปิ๊ง" ไอเดีย! จะทำอะไรที่บังกาลอร์....

อินเดีย-02 : สุด ๆ เลย กว่าจะมาถึงบังกาลอร์ (ขั้นเตรียมข้อมูล, ทำไมต้องเลือกมาที่นี่)

สุด ๆ เลย กว่าจะมาถึงบังกาลอร์ (ขั้นเตรียมข้อมูล, ทำไมต้องเลือกมาที่นี่)

Why Bangalore?

เมือง ๆ หนึ่งที่ผมใฝ่ฝันเอาว่าว่าสักวันจะต้องไปเหยียบหรือไปอยู่แถว ๆ นั้นสักครั้งก็คือ เมืองบังกาลอร์ (Bangalore) เมือง ๆ นี้เป็นเมืองที่นับได้ว่าเจริญในด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และในอีกหลาย ๆ ด้านของอินเดีย และค่าครองชีพก็สูงเป็นอันดับต้น ๆ เหมือนกันกับมุมไบ (Mumbai) (ชื่อเดิมก็คือ บอมเบย์ (Bombay)) เมือง ๆ นี้เรารู้จักกันในสมญานามว่าเป็น "ซิลิกอนวัลเลย์" (Silicon Valley) หรือเมืองแห่งนักโปรแกรมเมอร์ จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช้แค่บังกาลอร์หรอกครับ มีอีกหลาย ๆ เมืองในอินเดียนี้ก็เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหมือนกัน เช่น เชนไน (Chenai) เป็นต้น แต่ที่โดดเด่นและสื่อมักจะประโคมก็เห็นจะเป็นเมืองบังกาลอร์นี้ล่ะครับ แต่จากการที่ได้พูดคุยกับหลาย ๆ คนในอินเดียแล้วก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บังกาลอร์นี้ล่ะน่าอยู่ที่สุด ทั้งสภาพอากาศ ผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษกันทุกวัน ฯลฯ ดังนั้น ประชากรในเมืองนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปี ๆ หนึ่งมีชาวต่างชาติ และจากรัฐอื่น ๆ ของอินเดียเข้ามาหาที่เรียนและที่ทำงานกันมากมาย เมืองนี้นับได้ว่าเป็นเมืองที่เหมาะแก่การแสวงหาความรู้อย่างมากครับ

ด้วยการที่ตัวผู้เขียนเองทำงานในสายของนักเขียนโปรแกรมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ด้านโปรแกรมเมอร์โดยตรงปัจจุบันผู้เขียนทำการสอนด้านคอมพิวเตอร์ วิชาที่สอนในเทอม ๆ หนึ่ง ก็จะเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมเป็นหลัก โดยสายงานและใจรักแล้ว ผู้เขียนก็อ่านตำรับตำราและก็เขียนโปรแกรมมันทั้งวันล่ะครับ และก็เกิดความสงสัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้ยินใคร ๆ พูดถึงโปรแกรมเมอร์จะต้องนึกถึงแต่อินเดีย คำว่า "อินเดีย" เริ่มได้ยินบ่อยขึ้น ๆ ตั้งแต่ปี 2541 ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะว่าประเทศนี้มีอะไรน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เวลาผ่านไปแต่ละวันผมเริ่มสนใจประเทศนี้มากขึ้น ทำให้ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียที่มีอยู่ในเมืองไทยอย่างพลิกแผ่นดินเลยว่าได้ ที่ไหนมีเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับอินเดีย, เมืองเดลลี, บังกาลอร์, เชนไน, มุมไบ ฯลฯ หาจากตำรา, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วารสารที่พูดถึงอินเดีย, ภาพยนตร์ หรือแม้แต่เข้าร้านหนังสือธรรมสภา เพื่อหาข้อมูลประเทศนี้จากหนังสือสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า, หรือแม้กระทั่งเดินเที่ยวแถว ๆ พาหุรัดเพื่อเก็บข้อมูลก็เพราะว่าอยากรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ให้มากขึ้น

ปลายปี 43 เป็นปีที่โชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสไปเหยียบแผ่นดินนี้เป็นครั้งแรก คือ ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ของพระพุทธเจ้า (Buddhist Circle) ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดาที่เราได้ปฏิบัติตามคำสอนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้มาถึงที่จริงก็ครั้งนี้เอง ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายเที่ยวถามไกด์ที่พาราณาสีว่าถ้าจะไปอินเดียตอนใต้ จะไปยังไง ก็นั่นล่ะครับ เมืองที่ผมอยากไปอยู่ที่นั่น "บังกาลอร์" ช่วงนั้นสายการบินของการบินไทยยังไม่เปิดเที่ยวบินไปบังกาลอร์ มีแต่สายการบินอื่น ๆ ถ้าผมจะมาก็บินมาลงมุมไบ ที่นี่เรียกว่าเป็นเมืองดารา หรือบอลลี่วู้ด (Bollywood) ซึ่งเราจะไปคุยกันในช่วงหลัง ๆ และเมื่อถึงมุมไบก็จับรถไฟลงใต้ นี่ก็คือแผนการเดินทางที่ลองวางเอาไว้ ตั้งใจว่าสักปี 47 นี้จะมาให้ได้เลย แต่แล้วก็ไม่ได้มาซักที ติดโน่นติดนี่ตลอด ถ้าพูดแบบไม่เข้าข้างตัวเองก็คือ เราไม่ยอมหาโอกาสให้กับตัวเองมากกว่า และอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีใครมากับผมแน่นอนอีแบบนี้

แต่สุดท้ายเอาเข้าจริงๆ ก็ติดครับ ไม่สามารถไปได้แน่นอน เพราะหลังจากกลับจากอินเดียตุลาคม 43 นั้นก็เรียนคอร์สเวิร์คจบพอดี และจะต้องทำวิทยานิพนธ์ต่อ หัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโทก็ยังไม่ได้ ยังอุตส่าห์คิดถึงการเรียนต่อปริญญาเอก อย่างนี้เราหวังได้ครับ แต่หวังแล้วจะต้องไปให้ถึง ไม่ใช่ว่าหวังแล้วก็ติดอยู่ที่ความหวัง ไม่ยอมเริ่มทำหรือเริ่มหาหัวข้อสักทีแบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ท่านผู้อ่านลองทายสิครับ ผมตั้งใจจะไปเอาปริญญาเอกจากประเทศไหน... แน่นอน ผมตั้งใจไปเอาปริญญาจากอินเดีย ไปเอาจากมหาวิทยาลัยแถว ๆ เชนไนหรือบังกาลอร์นี่ล่ะ ผมเข้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอินเดีย หาข้อมูลการเรียนต่อสำหรับ Foreign Student , ค่าธรรมเนียมและค่าลงทะเบียนต่าง ๆ หาจาก Google ที่เรารู้จักกันนี่ล่ะครับ ผมเปรียบเทียบทั้งการเรียนแบบ Correspondences และแบบ Full-time หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่สนใจจะทำก็มีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา (Education), ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering), และด้านมัลติมิเดีย (Multimedia Processing) ไม่มีใครทัดทานผมเลยว่าให้ผมไปเอาปริญญาเอกจากที่อื่น ผมรู้อยู่แก่ว่าใจ ประเทศนี้มีเสน่ห์อะไรบางอย่างให้ผมต้องไป และถ้าเรียนสบาย ๆ นั่งกินนอนกินได้คงจะไม่สนุกเท่าไหร่ กลับมาเมืองไทยคงจะมีเรื่องเล่าน้อยกว่าอินเดียแน่ ที่อินเดียมีระบบการศึกษาที่ไม่เป็นรองใคร เพราะอังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานเอาไว้ มหาวิทยาลัย (University) และวิทยาลัย (College) หลายพันแห่งในอินเดีย สามารถผลิตนักปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดได้ ด้วยความที่ระบบการเรียนการสอนของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตำหรับตำราก็ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น คนที่จบมาจึงมีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ, อ่านหนังสือ, คู่มือต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา คนที่จบมาที่มีสำเนียงดี ๆ ระดับหัวกะทิก็มีโอกาสทำงานได้เงินเดือนมากกว่า คนที่มีศักยภาพพอก็ออกไปทำงานนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดูไบ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมันและอีกหลาย ๆ ประเทศ ดู ๆ ก็เหมือนกับว่าสมองไหลออกนอกประเทศ รัฐบาลเขาก็พูดถึงปัญหานี้อยู่เหมือนกัน และจุดนี้ก็ทำให้เราคิดถึงประเทศไทยมาตะหงิด ๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแรกก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษ อันนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่ประถม, ถึงมัธยมและปริญญาตรี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเหมือนกับคนอินเดีย ดังนั้น แน่นอน.. ทักษะการพูดกับการฟังของคนไทยจึงไม่เท่ากับบางประเทศที่เขาใช้กันอยู่ทุกวัน

ที่อินเดียมีระบบการศึกษาที่ไม่เป็นรองใคร เพราะอังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานเอาไว้ มหาวิทยาลัย (University) และวิทยาลัย (College) หลายพันแห่งในอินเดีย สามารถผลิตนักปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดได้ ด้วยความที่ระบบการเรียนการสอนของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตำหรับตำราก็ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น คนที่จบมาจึงมีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ, อ่านหนังสือ, คู่มือต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา คนที่จบมาที่มีสำเนียงดี ๆ ระดับหัวกะทิก็มีโอกาสทำงานได้เงินเดือนมากกว่า คนที่มีศักยภาพพอก็ออกไปทำงานนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดูไบ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมันและอีกหลาย ๆ ประเทศ ดู ๆ ก็เหมือนกับว่าสมองไหลออกนอกประเทศ รัฐบาลเขาก็พูดถึงปัญหานี้อยู่เหมือนกัน และจุดนี้ก็ทำให้เราคิดถึงประเทศไทยมาตะหงิด ๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแรกก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษ อันนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่ประถม, ถึงมัธยมและปริญญาตรี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเหมือนกับคนอินเดีย ดังนั้น แน่นอน.. ทักษะการพูดกับการฟังของคนไทยจึงไม่เท่ากับบางประเทศที่เขาใช้กันอยู่ทุกวัน



มาต่อเรื่องมหาวิทยาลัยกันอีกนิด ด้วยความที่ผมสนใจในประเทศนี้ ผมไม่ลังเลใจเลยว่าจะไปเอาปริญญาจากที่ประเทศอื่น ท่านอาจารย์สุพจน์ นิตย์สุวัฒน์ และอาจารย์พารา ลิมมะณีประเสริญ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้งสองท่านที่ดูแลผมตอนปริญญาโทก็สนับสนุนและให้ความมั่นใจกับผมมาก และผมก็เชื่อว่าการไปเรียนต่อต่างประเทศ ถ้าไม่ลำบาก ไม่ได้ผจญภัย มันคงจะไม่สนุก ไม่มีเรื่องมาเขียนเป็นหนังสือได้ แต่ทำไมเมื่อมีใครพูดถึงอินเดีย ก็มักจะมองว่าเป็นอีกโลกหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยไปสัมผัสมาด้วยตัวเองด้วยซ้ำ บ้างก็บอกว่าบ้านเมืองไม่น่าอยู่ คนแขกอย่างโน้นอย่างนี้ พาดพิงไปถึงหนังแขกที่เต้นรอบภูเขา อย่าลืมนะครับว่ามหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกก็อยู่ที่นี่ นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา สรรพความรู้ต่าง ๆ ในหลาย ๆ แขนงไม่ว่าจะเป็นศาสนา, วรรณกรรม, แหล่งกำเนิดของภาษาและวัฒนธรรมก็อยู่ที่นี่ ผมเชื่อว่าถ้าท่านได้สัมผัส และได้รับรู้ในมุมมองที่ผมกำลังถ่ายทอดในบทต่อ ๆ ไป ท่านจะรู้สึกถึงความเรียบง่ายและความเป็นอยู่ของเขา แม้จะเป็นเมืองที่เราเข้าใจว่าเจริญในระดับต้น ๆ ของอินเดีย ที่นี่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนอย่างบ้านเรา เพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และด้วยความที่คนอินเดียมีนิสัยประหยัด, อดทน, หาเงินกันเก่ง แต่พวกเขาก็ยังอยู่กันได้อย่างเรียบง่าย ถ้าท่านยังคิดอยู่ว่าอินเดียเป็นประเทศที่ไม่เจริญ เป็นอีกโลกหนึ่งล่ะก็ ลองหาเหตุผลสิครับว่าทำไมปัจจุบันคนไทยถึงเริ่มนิยมหันไปเรียนเอาปริญญาจากอินเดียล่ะ ไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพง ถ้าท่านอยากรู้ ลองถามผู้ที่เรียนจบจากอินเดียมาสิครับ หรือลองอ่านเรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังในบทต่อ ๆ ไป, ทำไมเราต้องเอาอินเดียมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์, ทำไมบริษัทคอมพิวเตอร์หรือสำนักพิมพ์ระดับโลกจึงมาตีพิมพ์หนังสือที่อินเดีย, ทำไมไมโครซอฟต์จึงต้องการตัวนักโปรแกรมเมอร์อินเดียไปทำงาน เพราะเขาเขียนโปรแกรมเก่งหรือค่าจ้างถูกกว่า หรือทั้งสองอย่าง? สภาพแวดล้อมและความกดดันหลาย ๆ อย่างของประเทศเรากับเขานั้นต่างกัน เรามีวิธีที่จะหยิบเอาจุดเด่นและความแตกต่างของประเทศอินเดียมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศเราได้มั้ย ถ้าไม่ได้จะปรับอย่างไร ถ้าได้เราจะเริ่มต้นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ประเทศอินเดียในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานะครับ ถึงแม้เขาจะมีภาษาอังกฤษ, มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาตั้งในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหา และก็เป็นปัญหาในอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านประชากร, ปัญหาด้านภาษา, การว่างงาน, มลภาวะ, ช่องว่างของคนรวยและคนจน, ปัญหาเรื่องการเรียนสายอาชีพ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลเขาก็กำลังหาทางแก้ไขกันอยู่

ที่กล่าวมาทั้งนี่ก็คือที่มาของการเดินทาง 90 วันบังกาลอร์ อีกมุมหนึ่งของดินแดนแห่งนี้ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวสถานที่สำคัญ แต่เป็นการท่องเที่ยวทรัพยากรความรู้ของเขา "อินเดีย" ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ยิ่งใหญ่ อารยธรรมมีมากกว่า 4000 ปี หลาย ๆ คนที่กลับจากอินเดียได้ประสบการณ์และความรู้มามากมาย เพื่อมาตอบแทนบุญคุณของประเทศ แล้วท่านล่ะ ไม่อยากได้คำตอบอะไรจากประเทศนี้บ้างหรือ?

อินเดีย-03 : มาแบบไม่มีอะไร

มาแบบไม่มีอะไร

สิ่งที่ผมตั้งใจในการเดินทงครั้งนี้ก็คือ ไปหาที่เรียนด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ ด้วยความที่ว่าตัวเองก็เรียนภาษามาจากเมืองไทยมาตั้งหลายปีแล้ว จะไม่ให้หลายปีได้อย่างไร ก็เรียนกันมาตั้งแต่ประถมจนถึงปริญญาตรี พอติดต่อหลาย ๆ ที่แล้วมันยากลำบากเหลือเกิน ได้ข้อมูลไม่กระจ่างชัด ก็เลยเกิดความคิดพิเรนว่า "ถ้างั้น มาเองเลยดีกว่า" คิดถึงขนาดจะมาเอง แต่คิดไปคิดมาก็ยับยั้งชั่งใจเอาไว้ได้ ขนาดหลายปีที่แล้วที่เคยมานั่งรถบัสเที่ยวที่เดลลี ผ่านวงเวียน 10 วง งงเป็นไก่ตาแตก แบบนี้ไม่เอาดีกว่า พยายามมองหาผู้ที่สามารถติดต่อที่พักในอินเดียต่อไป หาจากอินเตอร์เน็ตบ้าง จาก Google นี่ล่ะครับ โดยหาจากกระดานข่าวเป็นหลัก จนไปเจอบริษัทหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อตรงนี้ก็แล้วกัน ผมก็โทรไปคุยด้วย คุยกันนานมาก ผมก็ถามทุก ๆ เรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับเมืองนี้ คุยกันมาเป็นปี ผมก็หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตประกอบ ไม่ว่าจะเป็น สภาพธุรกิจ, บ้านเมือง, ภาษาที่ใช้, ยานพาหนะ, แหล่ง shopping, โรงหนัง, ร้านหนังสือ, ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่, โรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์, ค่าโดยสารรถสามล้อ ผมถามไปถึงสภาพห้องเป็นอย่างไร, เดินทางไปโรงเรียนกี่บาท, กดเงินที่ไหน, ในห้องทำอาหารเองได้มั้ย และที่สำคัญจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ผมถามทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่ผมจะต้องทำในวันหนึ่ง ๆ เมื่อเขาให้ข้อมูลผมได้ครบถ้วน ผมก็มั่นใจกับบริษัทนี้และคนที่ผมติดต่อด้วยอย่างมาก ซึ่งก็ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนเลย คุยกันทางโทรศัพท์ตลอดแล้วมาเจอกันอีกทีวันที่เดินทางเลยได้พบหน้ากัน คุยกันแค่ 3 ชม. และก็บิน

ผมบอกกับเขาว่าให้ผมไปอยู่ที่นี่สักระยะหนึ่ง ช่วง Summer เพราะผมจะว่างก็ตอนปิดเทอมนี่ล่ะ ขอแถว ๆ ใจกลางของบังกาลอร์ โชคดีมากเลยครับ ผมได้อยู่ใจกลางเมืองเลย รถวิ่งกันควันกระจาย ผมอยู่ที่ถนน Brigade ซึ่งเป็นถนนธุรกิจของเขา ถนนเส้นนี้เชื่อมต่อมาจากตรงกลาง ๆ ของถนน M.G. ซึ่งก่อนไปนั้นผมก็ศึกษาแผนที่ของเมืองนี้จากอินเตอร์เน็ต และคิดว่าเป็นแผนที่ที่อัพเดทที่สุดแล้ว ผมเขียนแหล่งอ้างอิงเอาไว้ที่ภาคผนวกแล้วล่ะครับ อย่างน้อยเราก็ทำให้เราพอรู้คร่าว ๆ แล้วล่ะว่าอะไรอยู่ตรงไหน จะได้วางแผนการเดินทางได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ การตระเตรียมของเพื่อที่จะมาที่นี่ ถ้าจะให้ดีล่ะก็จะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ วัน หลายสัปดาห์เลยยิ่งดี เพราะเราแทบจะไม่รู้ว่าที่นี่จะมีอะไรให้เราบ้าง พอมาอยู่ที่นี่ไม่กี่วันผมคิดถึงอยู่อย่างเดียวที่ไม่น่าลืมคือลิปมัน 2-3 วันแรกปากแตกเลยครับ ไม่ได้ไปโดนแขกต่อยมานะครับ แต่อากาศที่นี่เย็น บังกาลอร์มีสัณฐานเป็นที่สูง อุณหภูมิตอนหน้าร้อนนี้อยู่ที่ประมาณ 20-35 องศา ในเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน ตอนกลางวันอากาศก็ร้อนดี แค่ 32-34 องศาเอง ("เอง" นะ) ที่แปลกก็คือไม่ค่อยมีเหงื่อ ขนาดผมเป็นคนที่ร้อนง่ายนะครับ แต่ที่นี่ผมเดินกลับบ้านทุกวันกลับไม่มีเหงื่อมากเท่าไหร่ ที่นี่กลับร่มรื่นกว่าที่คิดเพราะว่ามีต้นไม้เยอะมาก และมีร่มไม้จากต้นไม้ใหญ่ ๆ เป็นระยะ ๆ ที่เมืองบังกาลอร์จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ว่า "The City of Gardens" รู้อย่างนี้ หน้าหนาวช่วงปลาย ๆ ปีคงไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครจะมาช่วงนั้นเตรียมเสื้อกันหนาวและก็ลิปมันมาด้วยนะครับ

สำหรับข้าวของที่ต้องเตรียมก็มีหลายอย่าง ของกลุ่มแรกก็คือของจำเป็นเบื้องต้นเวลาไปเข้าค่ายลูกเสือนั่นล่ะครับ อาหารบางส่วน ไม่ต้องเอาไปเยอะ เพราะที่อินเดียอุดมสมบูรณ์ด้วยผักผลไม้อยู่แล้ว ข้าวสารนี่ก็ไม่ต้องหอบไป ไปหาเอาที่นั่นได้ กระทะแบบเสียบปลั๊กกับกาต้มน้ำไฟฟ้าอันนี้ควรจะเอาไปด้วย อย่างน้อยก็สามารถทำอาหารง่าย ๆ ได้เอง นอกจากนั้นก็มียาประจำตัวและก็เสื้อผ้าบางส่วน เพราะท่านสามารถหาซื้อเสื้อผ้าได้แถว ๆ เพราะมีขายเยอะครับ เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตที่นี่จะนิยมใส่กันตัวละ 50-120 บาทก็มี แต่แนะนำว่าถ้าไปเรียนล่ะก็อย่าแต่งตัวมาก เพราะจะดูเหมือนนักท่องเที่ยว แต่งสบาย ๆ โทรม ๆ ดีกว่า ไม่มีใครวิ่งเข้ามาเร่ขายของ และที่สำคัญคือคอมพิวเตอร์เครื่องเล็ก ๆ สักเครื่องที่จะเอาไว้คอยพิมพ์งานถ้าท่านไปเรียนคอมพิวเตอร์ก็ควรจะติดเอาไปด้วย, แผ่น CD เปล่า, CD-RW และแผ่นโปรแกรมติดตั้งวินโดวส์และโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดเอาไปด้วย เพราะถ้าหากใช้คอมไปเกิดมีปัญหากับวินโดวส์กลางคัน เดี๋ยวจะไปหาแผ่นติดตั้งไม่ได้นะครับ ที่นั่นไม่มีแผ่น Copy วางขาย ดังนั้น เตรียมเอาไปด้วย ก่อนไป back up ข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ 1 แผ่นไว้บ้านกับติดตัวไปด้วยอีกแผ่นกันเหนียว และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เตรียมรับมือกับอาการเบื่อโลก ถ้าอยู่แรก ๆ อาจจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแปลกใหม่ แต่ความรู้สึกแบบนี้มันจะมา ๆ หาย ๆ ดังนั้น เตรียมเกมคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ เล็ก ๆ เอาไปเล่นตอนเหงา ๆ หนังสืออ่านเล่นสักเล่มสองเล่ม อันนี้ก็แล้วแต่ครับ เมื่อถึงวันเดินทาง ผมโดยสารมากับ TG เที่ยวนี้มีคนไทยไม่กี่คน แต่ที่รู้ ๆ ผมนั่งหน้าขาวอยู่คนเดียว รอบ ๆ ข้างมีแต่คนอินเดียหมดเลย ถึงที่นี่ประมาณเวลา 3 ทุ่มของเขา (แต่บ้านเราปาเข้าไป 4 ทุ่มครึ่งแล้ว) ถึงแล้วก็สบายใจครับ

เดินออกจากสนามบินมีแต่คนมองทำนองว่าไอ้ตี๋ญี่ปุ่นนี่มาทำไม (ที่นั่นเขาเห็นผมเป็นคนญี่ปุ่นหมดเลยครับ ทัก Japanese กันหมดไม่มีใครทักว่าไทยสักคำเดียว) พอออกมาก็มีน้อง ๆ น่ารัก ๆ มารับ น้องหมี น้องปุ๊ และน้องมุนน่า พาไปที่พัก คิด ๆ ไปถ้ามาคนเดียวนี่คงจะสนุกพิลึก เพราะที่พักของลุงกับป้านี้ ดูภายนอกไม่มีทางรู้แน่นอนว่าบ้านแกแบ่งให้เช่า เพราะไม่มีป้ายบอกอะไรเลยครับ ห้องพักของผมนี้พื้นปูแกรนิต เย็น สะอาด และมีหน้าต่างตรงทางลมพอดี ลมโกรกตลอดเวลา ยุงไม่ค่อยเห็น ไม่รู้เป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นไปได้ว่าผมอยู่ชั้นสอง วันต่อมามันเริ่มมากันพรึบเลย เหมือนกับมันรู้ว่ามีคนอยู่เลยเข้ามาเยี่ยมกันอย่างอบอุ่นเลย ผมต้องแง้ม ๆ หน้าต่างไว้แล้วเอาธูปไปปักไว้แถว ๆ นั้นไม่ได้เซ่นไหว้อะไรหรอกครับ มันไม่มียากันยุง เอาธูปปักหลอกยุงไปก่อนก็แล้วกัน วันต่อมาเลยต้องไปหาซื้อพวกยากันยุงมาใช้ ไม่แพงครับ แต่ถ้าให้ดีไปซื้อเครื่องไล่ยุงมาดีกว่า เป็นแบบเสียบปลั๊กอันเล็ก ๆ Rs.63 ใช้ได้ประมาณเดือนนึง และก็ซื้อแบบตัวเติมน้ำยา (Refill) มาเติม ง่ายดีครับ หลัง ๆ เลยเปิดหน้าต่างทุกบานนอนหลับสบาย ไม่มียุงสักตัว

มาถึงเรื่องห้องพักต่อ ห้องที่พักนี้เป็นห้องกว้าง ขนาดอยู่ 2 คนได้สบาย มีห้องน้ำในตัว พร้อมที่ล้างหน้าและมีน้ำอุ่นให้ด้วย น้อง ๆ เขาบอกว่าผมเป็นคนแรกที่เอาของติดตัวมาน้อยที่สุด ไม่ให้น้อยได้อย่างไรล่ะครับ ผมยัดของมาเยอะมาก แต่ก่อนไป 2 วันผมโยนออกหมดเลย เอาไปแต่ของที่ใช้แล้วหมดไป เช่น สบู่, ยาสีฟัน, อาหารแห้ง ฯลฯ ทุกอย่างลดลงครึ่งนึง สบู่ก็เอาไปก้อนเดียว ยาสีฟันก็เปลี่ยนเอาหลอดเล็กไป อาหารแห้งพวกบะหมี่ก็เอาออกไปครึ่ง, สำหรับของพวกวิทยุ, ทีวีเครื่องเล็กแบบนี้ไม่คิดจะพกเลย ผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวก็ไม่พกไป กะว่าไปหาเอาแถวนั้นง่ายกว่า ถ้าคนอินเดียไม่มีผ้าเช็ดตัวหรือไม่มีผ้าห่มก็ให้มันรู้ไป ถังน้ำหรือขันก็ไปหาเอาที่นั่น

ปฏิทินตั้งโต๊ะก็ฉีกไปเฉพาะเดือนที่ไปบวกลบไปอีกหนึ่งเดือน ผมเอาของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกหมด เลยเหลือกระเป๋าแค่ 2 ใบ แบบเดินลากใบหนึ่ง อีกใบใส่เสื้อผ้าที่เหลือสะพายเอา วันแรกไปถึงทำอะไรไม่ได้มาก อยากกินกาแฟของโปรดก็ทำไม่ได้ มีกาต้มน้ำก็จริง แต่ต้มไม่ได้เพราะปลั๊กคนละแบบ เสียบกันไม่ได้ เอ้า...งั้นวิ่งหาปลั๊กวันรุ่งขึ้นก็แล้วกัน ไม่รู้หาที่ไหนด้วย น้อง ๆ เขาบอกว่าไปหาตามร้านขายของชำได้ เขาจะพาไปวันรุ่งขึ้นตอนเย็น พอวันรุ่งขึ้นก็เริ่มเดินเตร็ดเตร่ตั้งแต่เช้าเลย เดินไปเรื่อย ๆ หาถัง, ขัน, แก้วน้ำเล็ก ๆ ไว้ชงกาแฟ หมดไปประมาณ Rs.70 (70 รูปี) หรือประมาณ 70 บาท ตัวแปลงปลั๊กหรือ Multiple plug ก็อันละ Rs.40 ก็ประมาณ 40 บาท (ในตอนมีนาคม 48) พอหมดเรื่องห้องก็สบายแล้วครับ อย่างน้อยเรามีที่ซุกหัวนอนแล้ว ลุงเขาก็ให้กุญแจเรามาเก็บไว้ ลุงแกเป็นฮินดู พอได้คุยกันบ่อยเข้าก็เลยรู้ว่าแกใจดีเอามาก ๆ ตอนแรกนึกว่าจะดุ คนที่นั่นนะครับ สีผิวเขาทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าจะดุ แต่จริง ๆ แล้วก็เหมือนกับบ้านเรา บางคนก็คุยเก่ง มีน้ำใจดีเหมือนคนไทยเลยล่ะ ยิ้มเก่ง ไปไหนไม่ถูกก็ถาม เขาก็อุตส่าห์ชี้ให้ บางคนเห็นเรายืนถามทาง ก็เข้ามาช่วยดูก็มี บ้างยิ่งใจดีใหญ่ เดินพาไปถึงที่เลยก็มี ลุงแกบอกว่าแกมีห้องว่างสองห้อง แกขอแค่คนที่มาพักให้เป็นคนดีก็พอ (Good man) ไม่เอะอะ, ไม่รบกวนคนอื่น เจอกันทักกันด้วย ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างอยู่ เหมือนคนก่อน ๆ ที่มาพัก แกก็เล่าให้ฟังว่าทักแล้วก็ไม่ทักตอบ จู่ ๆ ก็หายกลับบ้านไปเลย ไม่ยอมบอกกล่าวกัน แบบนี้เป็นใครก็เสียความรู้สึกเหมือนกัน

อินเดีย-04 : สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนไป (ดูให้ดี คนที่เราจะไปด้วยให้ข้อมูลดีหรือเปล่า)

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนไป

ถ้าท่านวางแผนที่จะไปเรียนต่อ หรือไปเทคคอร์สระยะสั้น 3 เดือนหรือหนึ่งปีที่อินเดีย ถ้าเดินทางไปเองอาจจะไม่สะดวกนัก แต่ถ้าท่านติดต่อบริษัทที่ทำงานด้านหาสถานที่เรียนจะสะดวกมากครับ เพราะไม่ต้องหาที่อยู่เอง พออยู่ได้คล่อง ๆ สักเดือนสองเดือน ค่อยไปหาที่อยู่ใหม่เองก็ได้ แต่ก็จะต้องพิจารณาให้มาก ๆ (อันนี้ขอเน้นเลย พิจารณาให้มาก ๆ)

ตัวผู้เขียนเองคิดที่จะเดินทางไปเองเหมือนกัน แต่ก็เปลี่ยนใจ เพราะเที่ยวบินจะบินไปถึงบังกาลอร์ตอนดึก ประมาณสามทุ่มกว่า ๆ ผมจะต้องผจญปัญหาเรื่องที่ซุกหัวนอนเป็นปัญหาแรก ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาเรื่องที่พัก หาบริษัทที่ทำงานด้านนี้ให้เขาจัดการไปเลยดีกว่า เราจะได้เดินทางเพื่อไปเก็บความรู้ได้อย่างอุ่นใจ ผมติดต่อไปยังหลาย ๆ บริษัทที่สามารถพาผมไปอินเดียได้ อาทิเช่น บริษัททัวร์บ้าง, บริษัทที่ทำด้านการศึกษาบ้าง ติดต่อผ่านทางเว็บไซต์, โทรศัพท์, อีเมล์ และอีกหลาย ๆ ทาง แต่ก็ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนัก บางที่ก็ให้ข้อมูลตามที่ต้องการไม่ได้ เลยไม่มั่นใจในการเดินทางเท่าใดนัก ตรงนี้ขอให้พิจารณาให้ดี ๆ ให้หนัก ๆ อย่าคิดแต่ราคาถูกเข้าว่า บางบริษัทรับปากตกลงดิบดีแล้วแต่ก็ผิดคำพูดก็มี ทำให้ผมต้องรอเสียเวลาเป็นสัปดาห์ ๆ เลย บางบริษัทผมก็ต้องเดินทางไปคุยเพื่อขอรายละเอียดเอง ไม่รับการโอนเงินและส่ง Passport ให้ทางไปรษณีย์ ถ้าผมอยู่เชียงใหม่หรือเชียงราย ผมก็คงจะต้องตีรถมากรุงเทพวันเดียวเพื่อที่จะติดต่อจึงจะได้ไปกัน ดังนั้น การเลือกว่าจะมากับใครจะต้องพิจารณาให้มาก ๆ ดูให้ดีว่าเขาจะดูแลเราอย่างไร เพราะอินเดียไม่ใช่จังหวัดหนึ่งในประเทศไทย แต่เป็นอีกประเทศใหญ่ ๆ ประเทศหนึ่ง ดังนั้น พิจารณาให้ดีครับ การเตรียมตัวอันดับแรก ให้ท่านลิสต์รายการสิ่งที่ท่านอยากรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินทาง การเตรียมพร้อมทุก ๆ อย่าง คิดถึงปัจจัยสี่เข้าไว้ครับ อาหาร, ที่อยู่, เสื้อผ้า, ยารักษาโรค และก็เรื่องของค่าใช้จ่าย ฯลฯ แล้วถามผู้ที่จะพาท่านให้เรียบร้อย หัวข้อที่ผมเตรียมเอาไว้ถามก่อนไปก็คือ

1. ที่พักและความปลอดภัย ถ้าปลอดภัยก็จะดีมาก ไม่ใช่นั้นท่านอาจจะต้องพกเงินหรือ Passport ไว้กับตัว โอกาสหายก็มีได้มากกว่าไว้ที่บ้าน (อันนี้ต้องหากุญแจและโซ่ไปเผื่อเอาไว้ด้วย กันไว้ดีกว่าแก้ครับ)

2. แหล่งหาซื้ออาหาร-น้ำดื่ม หรือซุปเปอร์มาเก็ต อยู่ใกล้ ๆ ที่พักมั้ย

3. ค่าใช้จ่ายที่พัก, ค่าใช้จ่ายในการเรียน, ค่าเดินทาง, มีค่าใช้จ่ายอื่นอีกมั้ยที่จะต้องจ่ายเพิ่ม

4. การกดเงินจากตู้ ATM โดยใช้บัตรเครดิตหรือบัตร Visa Electron, วิธีการสังเกตและวิธีการใช้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือแม้แต่การขึ้นเช็คเดินทาง ฯลฯ

5. การขอวีซ่า จะขอแบบวีซ่านักเรียนหรือแบบวีซ่าท่องเที่ยว ถ้าวีซ่าหมดอายุจะต้องเดินทางไปต่ที่ไหน ไปต่อเองหรือจะมีคนไปเป็นเพื่อน เดินทางอย่างไร จ่ายอีกเท่าไหร่ เตรียมเงินเอาไว้ให้พร้อม

6. เมื่อถึงสนามบินแล้วจะเดินทางต่ออย่างไร มีใครมารับ ผู้ที่มารับแต่งตัวอย่างไร ชื่ออะไร เบอร์โทรอะไร ถ้าพลาดจากกันแล้วเราจะติดต่อกันได้อย่างไร

7. การซื้อตั๋วเครื่องบิน จะซื้อไป-กลับเลย หรือจะไปหาซื้อตั๋วกลับเอาแถวนั้น ราคาเท่าไหร่

8. ถ้ามีปัญหาระหว่างอยู่ที่อินเดีย ปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดฟัน, เป็นไข้ แบบนี้จะติดต่อใคร และทำอย่างไร อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก

9. การแลกเงินในกรณีที่เอาเงินดอลล่าร์ไป จะไปหาแลกได้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่สนามบิน หรือจะแลกที่สนามบินก็ได้

10. เรื่องของการสมัครเรียน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการสมัคร, รูปถ่าย, ทรานสคริปต์, จะต้องสำเนาไปที่ใบ

11. โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไปเรียน ก.พ. รับรองหรือไม่

12. ถ้าท่านส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนประจำ ลูกหลานของท่านมีปัญหาส่วนตัวอะไรบ้าง เช่น กินอาหารยาก, เป็นโรคประจำตัว, อุปนิสัย, ติดเกมคอมพิวเตอร์, ชอบหนีเรียน ฯลฯ อันนี้ต้องแจ้งให้กับทางผู้ที่จะดูแลทราบล่วงหน้า เพื่อที่จะได้หาทางรับมือให้พร้อม

13. เรื่องอื่น ๆ เช่น หากมีปัญหาสามารถติดต่อเพื่อน ๆ คนไทยมีมั้ย..

การหาที่พักเองในเมืองบังกาลอร์คงจะค่อนข้างยาก ถ้าเราไม่เดินถามหรือไม่มีผู้ติดต่อให้ ที่พักนี้อาจจะเป็นบ้านว่าง ๆ เปิดให้เช่า ซึ่งโดยมากราคาจะสูงและต้องจ่ายล่วงหน้าหลายเดือน เช่น 6-10 เดือนเป็นต้น ถ้าอยู่นาน พร้อมทั้งมีค่าประกันของเสียหายด้วย แต่ถ้าบริษัทที่ติดต่อเราบอกว่าจะให้เราไปอยู่กับคนอินเดียที่นั่นก็อาจจะถูกหน่อย แต่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกมากนัก เขาอาจจะจุกจิกเราในเรื่องของการใช้น้ำไฟ และอาหารการกินอาจจะลำบากถ้ากินอยู่กับเขา แต่ถ้าไปคนเดียวหรือไปแค่ 2-3 คน หาห้องพักจะดีกว่า โดยมากมักจะเป็นบ้านที่มีห้องว่าง ๆ นั่นล่ะครับ เขาเปิดให้เช่า ราคาก็จะอยู่ประมาณ 3,000-5,500 บางที่ก็รวมน้ำไฟแล้ว บางที่ก็ไม่รวม ถ้าท่านไปเพื่อเรียนก็ควรจะหาที่พักใกล้ ๆ ที่เรียน เพราะถ้าเอาแค่ที่พักราคาถูกเข้าว่า พอบวกค่าเดินทางไปเรียนแล้วกลับกลายเป็นว่าพอ ๆ กัน อีกทั้งผจญกับความไม่สะดวกเรื่องอาหารการกินอีก ที่พักที่ผมเช่าอยู่เป็นห้องแบ่งให้เช่า เจ้าของบ้านเป็นลุงกับป้าและก็ลูกชาย แกสองคนใจดีมาก ต้องบอกว่าบริษัทที่ผมติดต่อหาบ้านให้ผมได้ดีมากเลย และที่สำคัญคือแถวนี้ปลอดภัย ช่วงสัปดาห์แรก ๆ เวลาไปไหนผมจะเอา passport และของมีค่าติดตัวไปตลอด แต่ต่อมาผมก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าที่นี่ปลอดภัย ผมเก็บของมีค่าเอาไว้ในตู้ ล็อกกุญแจเรียบร้อย แค่นี้ก็ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจแล้วครับ ไม่มีใครเข้ามายุ่งวุ่นวายเลย เจ้าของบ้านแกไม่มาจู้จี้ผมเลย บางวันตากเสื้อไว้ ฝนตกแกก็เก็บเข้ามาให้ด้วย น่ารักมาก ๆ เลย ต้องบอกว่าหายากครับที่จะเจอที่พักแบบนี้ และแถว ๆ ที่พักผมนี้ก็มีวัดและสถานที่ทางศาสนาฮินดูอยู่รอบ ๆ เด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ อายุประมาณไม่เกิน 15 ปีจะเยอะมากเป็นพิเศษ วิ่งเล่นกันขวักไขว่เลย ตอนเจอเจ้าของบ้านครั้งแรก แกบอกว่าขออย่างเดียวคือ แกไม่ชอบคนสูบบุหรี่กินเหล้า และไม่ให้มีการพาใครมาเอะอะโวยวายปาร์ตี้ในห้องหรือเปิดเพลงเสียงดัง ถ้าเป็นเลดี้มาเที่ยวบ้านก็จะต้องให้กลับก่อนค่ำ เพราะนี่เป็นธรรมเนียมทางศาสนาของเขา ดังนั้นผมเลยอยู่ได้อย่างสบายใจเป็นพิเศษ โดยมากคนไทยเราก็มีความเป็นกันเองและนอบน้อมอยู่แล้ว เจอหน้าก็ยกมือสวัสดี ยิ้มให้ ทักทายกับเจ้าของบ้าน ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาแบบนี้ เขาก็จะปฏิบัติต่อเราดีมาก ๆ เหมือนกับเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน เวลาโผล่หน้าเข้าไปคุยกับเจ้าของบ้าน เขาก็จะมีขนมหวานและผลไม้มาแบ่งให้เรื่อย ๆ กล้วยบ้าง, มะม่วงบ้าง และก็จะถามโน่นถามนี่เกี่ยวกับเมืองไทย และไม่มายุ่งเรื่องส่วนตัวของเรา ไม่มาจุกจิกเรื่องห้องหรือเรื่องการใช้น้ำไฟอะไรเลย จะใช้เท่าไหร่ก็ใช้ไป แต่ถ้าไม่อยู่ก็ขอให้ปิดไฟปิดน้ำ เข้าออกได้ตลอดเวลา เพราะเขาจะให้กุญแจหน้าบ้านและกุญแจห้องเอาไว้ ถ้าเราให้ความเกรงใจและอัธยาศัยดีต่อเจ้าของบ้านแล้ว เขาก็จะให้ความเกรงใจเราตอบกลับมา

บอกได้เลยว่าการมาอยู่ครั้งนี้ผมพอใจกับที่พักมากเป็นพิเศษ และในการหาที่พักนี้ ถ้าหาได้อยู่ใกล้กับแหล่งของกินก็จะดีมาก ๆ ไม่ต้องเดินหอบของพะรุงพะรัง ท่านจะต้องถามทางบริษัทหรือผู้ที่พามาให้ดีในเรื่องของอาหารว่ามีอาหารแบบไหน เพื่อน ๆ คนไทยบางคนก็อยู่ห่างไกล ต้องซื้อของกลับบ้านทุกวันก็มี บางคนก็ได้ไปอยู่ในแถบที่มีแต่ร้านอาหารราคาแพง ๆ ต้องกินอาหารมื้อใหญ่ ๆ ทุกมื้อ ถ้าท่านอยู่แค่เดือนสองเดือนคงจะไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่นาน ๆ อย่าง 6 เดือนหรือมาเรียนเป็นปี ๆ ทางออกในเรื่องอาหารก็คือ ทำกับข้าวกินเอง, เตรียมอาหารสำเร็จรูปไป หรือไม่ก็จะต้องหัดกินอาหารอินเดียให้เป็น อย่างน้อยก็เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ (Eat to live) ดังนั้น การอยู่ที่นี่จึงเป็นการฝึกให้เป็นคนอดทน เรียนรู้การยอมรับสังคมรอบข้าง เรียนรู้ความสุขและความทุกข์ในคราวเดียวกัน พ่อแม่ที่ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ พอกลับมากินผักผลไม้เก่งขึ้นก็มี เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ตัดสินใจและยืนได้ด้วยตัวเอง พร้อมที่จะเป็นผู้นำครอบครัวในอนาคตต่อไป เอาล่ะครับ ในเรื่องของอาหารการกินนี้ เดี๋ยวเรามาว่ากันต่อในบทต่อ ๆ ไปดีกว่า

อินเดีย-05 : วันแรกก็โดนซะแล้ว

วันแรกก็โดนซะแล้ว
จุดหมายของการมาแบบไม่มีอะไรของผมก็คือ เพื่อให้กระเป๋าว่างพอที่จะใส่ของกลับได้ ที่นี่ของที่ระลึกพวกพรม, เครื่องเงินมีขายเยอะ แต่หน้าอย่างผมนี้จะเข้าไปซื้อเครื่องเงินกลับบ้านตั้งแต่วันแรกก็แปลกแล้วล่ะ มาอยู่นี่ต้องประหยัดกันสุด ๆ ถึงแม้ว่าจะกดตังค์จาก Visa Electron ได้ก็ตาม วันแรก ๆ ที่เดินหาของ หาพวกถังมารองน้ำ หาแก้วมาใส่กาแฟ ที่นั่นกาแฟแก้วละ 10-15 บาท ผมเอาแบบ Three in one มาชงกินเองดีกว่า เดินไปเรื่อย ๆ แขกคนหนึ่งก็ทักทาย คนอินเดียนี่ต้องบอกว่าชอบคุย ชอบถาม เห็นหน้าตาคม ๆ เข้ม ๆ ไม่ใช่คนเงียบ ๆ ขรึม ๆ น่ากลัวนะครับ ที่ติ๊งต๊อง ๆ ก็มี ที่มาหลอกเราก็มี ที่ทำงานสุจริตก็มี ที่โดนผมหลอกก็มี เหมือนกันทุกประเทศน่ะล่ะครับ

คนที่เข้ามาคุยด้วยนี้แกชื่อว่าแมนี่ (Mani) เป็นคนขับรถออโต้ริกซอว์ หรือรถสามล้อรับนักท่องเที่ยว เช้า ๆ มีคนไม่เยอะ แกก็ว่าจะพาเราไปเที่ยวรอบ ๆ ถนน M.G. แล้วมาส่งที่เดิมแค่ 10 รูปี ผมก็ไม่รู้นี่ว่ามันมีลับลมคมในอะไร ดี น่าสนใจ ก็ไปกับเขา ใจง่ายมั้ยเนี่ย มันพาทัวร์รอบๆ ครับ แล้วมันพาไปไหนรู้มั้ยครับ มันพาเข้าร้านของที่ระลึก พวกเครื่องเงิน ให้ผมเป็นลูกค้าคนแรกของร้าน เพราะเพิ่งจะเปิดร้านตอน 10 โมง ลูกค้าคนแรกถือว่าเป็นฤกษ์ดีของเขา แต่ที่ไหนได้มาเจอผมเข้าซะ อย่างที่บอกไงครับ หน้าอย่างผมจะเข้าไปซื้อผ้าไหม, ซื้อเครื่องเงินตั้งแต่วันแรกก็ไม่ใช่ ต่อให้เป็นวันสุดท้ายผมก็ไม่ซื้อ ผมเตรียมมาซื้อกลับอย่างเดียวก็คือหนังสือ เจ้าของร้านหยิบผ้าโน่นผ้านี่มาให้ดูหลายผืน และก็บอกว่าสนใจอันไหน แค่นี้ผมก็รู้แล้ว มาไม้นี้อีกแล้ว คุ้น ๆ เหมือนกัน เถียงกับคนขายมันยกใหญ่ ผมก็เสียอยู่อย่างดันติดนิสัยขี้เกรงใจมา แต่ดู ๆ ไปแล้วมันก็ไม่เห็นเกรงใจเราเลยสักนิดเดียว มันจะให้เราซื้อผ้าประเดิมเป็นลูกค้าคนแรกในวันจันทร์ท่าเดียว คนขายยกเหตุผลนี้ขึ้นมา ถามหาบัตรเครดิตเรา ผ้าผืนละ 500 รูปี (ประมาณ 500 บาท) สวยนะครับ สวยจริง ๆ นึกๆ ไปก็อยากได้เหมือนกัน ผมดูผ้าไม่เป็น แต่ก็ดูรู้ว่าประณีตเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามผมคงจะไม่ได้ใช้แน่ เจ้ารถพวกนี้ใช้วิธีนี้ในการเอาค่า commission โดยพานักท่องเที่ยวมาที่ร้าน ใครมาก็คงจะโดนแบบนี้เหมือนกัน ใครมาเที่ยวเมืองไทยก็คงไม่ต่างกัน แต่วันนี้ไม่ใช่ฤกษ์ของเขาครับ เงิน 500 รูปีของผมซื้อหนังสือที่นี่ได้ตั้งหลายเล่ม มันไม่มีทางหลุดจากกระเป๋าผมแน่ ถ้าอายุขนาดนี้แล้วยังเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป

พอเห็นคนขับเดินเข้ามาข้างในอยู่กันพร้อมหน้าก็พยายามบอกจะมันประมาณว่า "ถ้าคุณใช้วิธีแบบนื้เพื่อให้มีลูกค้า มันไม่เวิร์คนะ เพราะคุณกำลังบังคับให้ฉันซื้อของที่ไม่ต้องการ, วันจันทร์เช้าและลูกค้าคนแรกเป็นฤกษ์ดีของคุณ แต่ไม่ใช่ปัญหาของผม" ผมพูดอย่างจริงจังมาก ๆ ดูเหมือนโหดร้ายกับเขา แต่จะไม่ให้พูดแบบนี้ได้อย่างไร ผมเข้าร้านแต่ก็ไม่ได้จะต้องรับผิดชอบการเป็นลูกค้าคนแรกนี่ครับ และผมไม่ได้มีเงินเหลือมาให้คนขับรถที่ว่าจะพาผมเที่ยวแต่กลับมาหลอกกันแบบนี้ ผมไม่ได้มาอยู่ 3-4 วัน ผมอยู่เป็นเดือน ๆ ว่าแล้วก็หันไปหาคนขับ บอกแค่ว่า "OK Take me back" มันก็บอกว่าช่วยหน่อยเถอะ ผมอยากจะได้อะไรสักอย่าง ฟังไม่ชัดสำเนียงเขา เหมือนกับว่าเป็นของใช้ให้ลูกอะไรประมาณนี้ เพราะว่าจะได้ค่า commission ผมไม่สนใจเดินออกมาที่รถสามล้อหน้าร้านเลย ในใจคิดว่ามันไม่ตามมาวุ่นวายหรอก จากที่ผมได้ศึกษาข้อมูลมาคนอินเดียไม่ได้ป่าเถื่อน เจ้าของร้านก็พูดภาษาท้องถิ่นกับเจ้าแมนี่คนขับ คงจะให้มาตื้อ มันก็ตื้อเราอีก ตื้อเก่งจริง ก็เลยว่า "ไม่ต้อง งั้นผมกลับเอง" ผมมีแผนที่กลับเองได้ มันเลยโอเค ตอนเดินทางมา มันจะพาเราแวะอีกร้าน ขอแค่ 10 นาที มันอุตส่าห์หยุดรถหันมาเกลี้ยกล่อม แต่อย่าหวังเลย ผมทำท่าลงจะรถมันก็ โอเค ๆ เอาผมกลับมาส่งที่เดิม ผมถามว่าจะเอาเท่าไหร่ มันยิ้มแหย ๆ ขอ 20 รูปี ไม่มีให้หรอก มีแต่แบ๊งค์โต ๆ แล้วตอนแรกมาบอกว่า 10 รูปีไง... มันก็ทำคอยึกยัก เลยให้มันไป 10 รูปีพอ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราต้องรู้ทันแขกเวลาไปไหนมาไหน ซื้อน่ะได้ แต่อย่ามาบังคับกัน ผมซื้อหนังสือได้เป็นสิบ ๆ เล่มและเต็มใจแบกกลับถ้าอยากได้จริง ๆ ดังนั้นอย่ามาหลอกกัน ใครที่มาหลังจากผมนี่ให้รู้ทันไว้เลยนะครับ พยายามสื่อให้ได้ว่ามันจะพาเราไปไหน มันพูดอะไร ไม่ต้อง ง้อครับ รถสามล้อดี ๆ มีให้เกลื่อนเมือง เรามีสิทธิ์ในการตัดสินใจและเราควรเคารพสิทธิของเรา และแล้ววันจันทร์ก็เป็นฤกษ์ดีของผมในการเริ่มต้นค้นหาความรู้ที่นี่

อินเดีย-06 : M.G Road , Brigade Road ผมอยู่แถวน

M.G Road , Brigade Road ผมอยู่แถวนี้

เดือนมีนาคมที่ผมมาที่บังกาลอร์นี้ เริ่มเข้าช่วงหน้าร้อนของบ้านเรา และก็เริ่มช่วงหน้าร้อนของเขาเหมือนกัน (Summer) โชคดีที่ห้องน้ำในห้องพักผมมีน้ำอุ่นให้ด้วย คืนแรกที่มาถึง ลุงเขาก็แนะนำการใช้น้ำร้อนบอกว่าที่เปิดน้ำอยู่ที่ไหน ก็โอเค แต่ยังไม่ใช้เพราะไม่คิดว่ามันจะหนาวอะไรขนาดนั้น ผมอาบน้ำแบบไม่เกรงใจเลยครับ พอออกมาข้าง มันเย็นยะเยือกจนสั่นเลย เพราะห้องที่ผมพักนี้เป็นชั้นสอง แล้วหน้าต่างมี 3 บานติดกัน ลมเข้าพอดี ไม่มีตึกบังเลยครับ ต้องปิดหน้าต่างปิดพัดลมมานั่งกัดกรามอยู่คนเดียว วันต่อมาผมใช้น้ำอุ่นแบบไม่เกรงใจเลย ไอ้ว่าจะน้ำอุ่นก็ไม่ใช่ มันมี 2 ก๊อก อันหนึ่งเย็น อีกอันหนึ่งมันเป็นน้ำร้อน มันไม่ใช่น้ำอุ่นหรอก มันร้อนเลย บางวันก็แล้วแต่อารมณ์มันก็อุ่น อยู่อินเดียนี่ก็สนุกไปอีกแบบครับ มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงเยอะ กลับไปมีเรื่องเล่าเพียบ เพราะมันเหมือนกับการผจญภัยไปพร้อมกับการไปเรียน แต่ละวันจะมีเรื่องที่เราคาดไม่ถึงมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการโดยสารรถออโต้ ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อ ๆ ไป เช้า ๆ เป็นช่วงเวลาที่ดีในการออกมาจิบไจ (ชา) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชาผสมนม ใส่ขิงนิด ๆ รสเผ็ด ๆ แก้วละ 4 รูปี ถ้าเอาแก้วใหญ่หน่อยก็ 6-7 รูปี ตามร้านข้าง ๆ ทางเขาจะให้แก้วพลาสติกครับ ต้มร้อน ๆ เสร็จใหม่ ๆ สะอาด จะยืนกินแถว ๆ นั้นได้ ในร้านจะมีขนมคุกกี้และพวกบิสกิตให้กินแกล้ม หวาน ๆ อร่อยดีครับ เค้กที่นี่อร่อยครับ แต่กินชิ้นเดียวก็พอแล้ว เพราะหวานกว่าบ้านเราเยอะ พอสาย ๆ หน่อยก็จะพบกับเด็ก ๆ พ่อแม่เดินจูงไปส่งโรงเรียน หนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็เดินไปโรงเรียนกัน ผู้หญิงที่นี่เวลาไปไหนก็จะไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เหมือนกับพวกผู้ชายครับ แต่ก็ไม่ค่อยเห็นสาว ๆ แต่งส่าหรีหรือชูรีตา (Churithar) เท่าไหร่ มีแต่ก็จำนวนน้อย อาจจะเป็นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป และอีกอย่างเราเข้าไปอยู่ในแถบแฟชั่นของเมืองนี้ก็ได้ แต่ถ้าออกไปไกลหน่อยก็จะมีให้เห็นเยอะครับ อากาศที่นี่ถึงแม้จะร้อนในช่วงหน้าร้อน แต่ก็ไม่เห็นใครเดินถือร่มกันสักคน เดินเฉิบ ๆ กลางแดดกันหน้าตาเฉย ผมก็เดินเหมือนกัน แต่ต้องหลบเข้าใต้ร่มไม้ครับ

บังกาลอร์เป็นเมืองที่มีต้นไม้เยอะ มีร่มเงาให้พักพิงเยอะ ที่ที่ร้อนจริง ๆ ก็คงจะเป็นช่วงของตึกครับ อย่าง Brigade road นี้จะมีอยู่ช่วงหนึ่งของถนนที่ติดกับ M.G. Road แถวนี้ล่ะครับ มีแต่ตึก เดินตอนกลางวันร้อนเอาเรื่องเลยทีเดียว เวลาเดินก็ต้องหลบไปเดินอีกทาง พอถึงช่วงที่มีต้นไม้ก็สบายครับ มีต้นไม้ก็ดีอย่างนี้ล่ะ เมืองไทยเราต้องช่วยกันรักษาต้นไม้ไว้นะครับ เพราะจะช่วยสร้างความร่มรื่นให้บ้านเมืองได้มากเลยทีเดียว บังกาลอร์นี้นอกจากจะมีสมญานามว่าเป็น Silicon Valley of Asia หรือ Electronic City แล้ว อีกชื่อหนึ่งก็คือ The City of Garden หรือเมืองแห่งสวนนั่นเอง เพราะดังที่ว่าไว้ครับ ที่นี่ต้นไม้เยอะและอากาศดี ขอชมแค่ตอนเช้า ๆ ก็พอ เพราะช่วง ชม. เร่งด่วน (Rush hour) ถึงตอนบ่ายๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง คนเยอะ รถก็เยอะตาม ทั้งมอเตอร์ไซต์ รถเมล์และออโต้สามล้อที่ขับปาดไปปาดมา ที่นี่ดูเหมือนไม่ค่อยมีการควบคุมควันเหมือนกับเมืองไทย บางสี่แยกก็ไม่อยากเดินผ่านไปนช่วงเวลาทำงานเลย ร้อนก็ร้อนแล้วยังต้องผจญกับพอลลูชั่นอีก ซึ่งเดี๋ยวจะมาเล่าเรื่องพอลลูชั่นนี้ให้ฟังกัน เห็นว่านอกจากค่าครองชีพแล้ว เรื่องของพอลลูชั่นนี้บังกาลอร์ก็เป็นที่สองรองจากมุมไบเลยทีเดียว

ภาพจากกานดีนาการ์ ขาย DVD เถื่อนก็มี ไปซื้อวันนั้น ตํารวจลงพอดี

ช่วงเวลาทำงานของห้างร้านที่นี่ก็ตั้งแต่เวลาประมาณ 10-11 โมงเป็นต้นไป พอถึง 3 ทุ่มหรือ 4 รถก็เริ่มน้อยแล้วล่ะครับ หัวค่ำหน่อยพวกผับบาร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะเริ่มเปิดกัน ในแถบ Brigade Road, M.G. Road, Church Street และแถว Commercial Street นี่จะมีของขายเยอะมากมีร้านเสื้อผ้าแฟชั่นสวย ๆ แบบบ้านเรา, รองเท้าผู้ชายสวย ๆ ที่มีพรีเซนเตอร์อย่างซัลมาลข่าน (Salman Khan) ดาราหนุ่มหล่อที่แต่งอะไรก็ดูดีมาเป็นนายแบบให้ มีร้าน Pizza Hut, Pizza Corner, Domino Pizza, ร้านเนสกาแฟ และห้างที่เรียกว่า Shopping Center และที่ลงท้ายด้วย Mall ก็มีเยอะมากแถวนี้ อย่างห้าง Fifth Avenue (5Th Avenue) นี้ก็เป็นอีกห้างเล็ก ๆ ห้างหนึ่งครับ ที่นี่ไม่นิยมสร้างห้างใหญ่ ๆ เดินกันเมื่อยเหมือนบ้านเรา เข้าไปก็จะมีหลายชั้น บางร้านเงินหนาก็ได้หลายคูหา บ้างก็กินทั้งชั้นก็มี หนุ่ม ๆ สาว ๆ จะมาเดินเยอะครับ มาเป็นคู่ ๆ หรือมาเป็นกลุ่ม ๆ ก็มี ในนี้จะมีร้าน Music Shop ที่ขายพวก VCD, DVD, เทปซีดีเพลง เยอะแยะมากมาย เข้าไปข้างในจะดูสดใสดีครับ มีทั้งหนังอินเดีย และหนังต่างประเทศขายเยอะ ราคาก็อยู่ที่ Rs.129 บ้างก็ Rs.499 ถ้าเป็น DVD หนังใหม่ ๆ บางเรื่อง อย่าง DVD หนังอินเดียเรื่อง Main Hoon na ที่นำแสดงโดยชารุข่านก็ขายอยู่ที่ราคา Rs.399 มีจัดโปรโมชั่นแถมโน่นแถมนี่ด้วยนะครับ ราคาหนังต่างประเทศอย่าง DVD สไปเดอร์แมน ภาค 2 ก็ Rs 499 ครับ ถ้าเป็นหนังเทศเก่า ๆ หน่อยก็จะ Rs.199 นอกจากห้างนี้แล้วก็มีห้างอื่น เช่น Tota Royal Arcade ก็เป็นอีกแหล่งรวมผู้คนอีกที่หนึ่งเหมือนกัน มีร้านอินเตอร์เน็ต Web World, Coffee World และร้านของเล่น Toy R Us ก็มี นอกจากห้างไม่ใหญ่พวกนี้แล้ว ถ้าเดินขึ้นไประหว่างทางไปตาม Brigade Road ก็จะมีอีกหลายร้าน โดยมากจะเป็นเสื้อหาและร้านอาหาร บ้างก็เป็นร้านขายของชำบ้าง และก็มีร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ Software แต่ที่เห็นตามทางมีขายเป็นระยะ ๆ ก็คือไอศกรีมครับ กรวยละ 6 รูปีเอง แขกเขาชอบกินกัน สังเกตมาหลายวันแล้ว คนที่มาซื้อมีตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงคนแก่ก็มี เราก็เลยเอากะเขาด้วย มี 3 รสเหมือนบ้านเราคือ วนิลา, ช็อคและแบบผสม เวลาสั่งก็บอกคนขายว่า "Mix" ก็คือเอาแบบผสมกัน เดินกินไปเรื่อย ๆ กว่าจะถึง M.G Road เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน เพราะมันเป็นทางลาดขึ้นเขา ตามทางมีคนเดินตระเวนขายของไม่มากเหมือนกับตลาดจันปาทที่เดลลี ที่นั้นจะตามตื้อเราจนบางครั้งรู้สึกรำคาญ ที่นี่พอมันเห็นเราหน้าขาว ๆ แรก ๆ ก็เข้ามาขาย เดินตื้อเราไม่กี่ก้าวก็หายไปแล้วครับ บ้างก็มาขายนาฬิกา, ขายงู (แกะจากไม้), แผนที่อินเดียแบบติดผนังก็มีมาเร่ขาย เรื่องแผนที่นี้ผมไปจกเอาแถวร้านหนังสือก็ได้แค่ Rs.20 เองเพราะผมต้องการแค่แผนที่ของเมืองนี้เมืองเดียวเพื่อที่จะได้เดินทางถูก ผมเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราเหมือนกับนักท่องเที่ยวเพราะไปสะพายกระเป๋า วันหลัง ๆ มาก็ต้องไว้หนวดและก็เดินตัวเปล่าคราวนี้ไม่ค่อยมีใครทักแล้วครับ

ปัจจุบันนี้ เมืองบังกาลอร์ได้เปลี่ยนวิธีการเดินรถให้เป็นแบบวันเวย์ (One way) ครับ แรก ๆ ก็งง แต่พอดูแผนที่แล้วลากเส้นเอาก็พอดูออกแล้วล่ะครับว่ามันวนไปยังไง และด้วยความที่มันเป็นวันเวย์ มันทำให้ผมต้องเสียตังค์เพิ่มเพราะขากลับจาก รร. มันจะต้องไปอ้อมทะเลสาป เสียถึง Rs.20 จนได้ ต้องถามพวกออโต้ว่ามีทางอื่นมั้ยที่ไม่ต้องอ้อมทะเลสาป เขาก็จะพาลัดเลาะออกตลาดโน่นตลาดนี้ สุดท้ายเสียแค่ Rs.11 เอง การบีบแตรใส่กันถือว่าเป็นเรื่องปกติของที่นี่ครับ ยิ่งในเวลา Rush Hour นี้จะเหมือนกับว่ารถทุกประเภทในอินเดียต่างพากันออกมาวิ่งกันหมดแถมยังบีบแตรใส่กันสนั่นหวั่นไหว บางครั้งผมก็สังเกตดูพวกเขาจะบีบแตรใส่กันง่ายมาก ถ้าชะลอรถเมื่อไหร่ก็โดนบีบแตรไล่เมื่อนั้น แต่เขาไม่โกรธกันนะครับ ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงจะลงมาเจรจากันแล้วล่ะ เรามักจะบอกกันว่าการจราจรและการขับรถของคนไทยนั้นไม่มีระเบียบวินัย คือ ชอบปาดซ้ายปาดขวา ผมว่ายังธรรมดาเมื่อเทียบกับที่อินเดีย ที่นี่ขับกันเก่ง ถนนก็ไม่ค่อยมีเส้นบอก และก็ไม่ค่อยอยู่เลนตัวเองเท่าไหร่ จะออกก็ปาดออกมาพรวดเลย ใครที่ขับมาตรง ๆ ก็บีบแตรใส่ และก็หักหลบไปอีกเลน อีกทั้งคนเดินถนนก็เหมือนกัน เดินข้ามเหมือนกับเดินในห้างกันเลย แต่เขาก็ไม่ได้ข้ามกันสุ่มสี่สุ่มห้าแบบไม่ได้มองนะครับ ขอแค่มีช่องว่าง ๆ ระหว่างรถก็พรวดไปเลยไม่ต้องรอไฟแดง ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงจะได้คุยกับตำรวจแล้วล่ะ แบบนี้เห็นที่จะต้องบอกว่า "ทำอะไรตามใจคือแขกแท้ ๆ" ผมเห็นแขกเขาทำกันหน้าตาเฉย สารภาพเลยว่าหลัง ๆ ผมก็เริ่มติดนิสัยการเดินถนนแบบนี้มาบ้างแล้วเหมือนกัน มาถึง M.G. Road กันบ้าง ตลอดแนวฟากหนึ่งของถนน M.G. Road จะเป็นลานกว้าง แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นตึกขายและร้านค้าต่าง ๆ มากมาย ถนน M.G. นี้ยาวมากครับ ตลอดทางจะมีร้านค้าแบบแพง ๆ เยอะมาก มีโรงหนัง, ร้านหนังสือ 3-4 ร้าน, ร้านขายเสื้อผ้า, และร้านส่าหรี DEPAM ที่ดังๆ ของเขาก็อยู่ติดถนนนี้เหมือนกัน ช่วงที่ผมไปนี้ เป็นช่วงที่เขาจัดลดราคา 40% แถวนั้นเลยคึกคัก รถเยอะเป็นพิเศษ สำหรับการหากินแถว ๆ M.G. Road นี้สบายครับ ถ้าหิว ๆ เจอร้านอาหารก็แวะเข้าไปซื้อกินได้เลย เช่น Food World หรือใน Coffee Shop ริม ๆ ถนนก็ได้ แถบแถวนี้มีของกินให้เลือกเยอะ ถ้าอยู่ที่นี่นาน ๆ แล้วมากินแถวนี้ทุกวัน เดือน ๆ หนึ่งอาจจะหมดตังค์ไปหลายบาทกับการกิน อันนี้ต้องระวังให้ดีนะครับ

อินเดีย-07 : ถ้าอยู่ที่นี่อดตายก็อย่าไปอยู่ที่อื่น

ถ้าอยู่ที่นี่อดตายก็อย่าไปอยู่ที่อื่น

เอาล่ะมาถึงเรื่องของอาหารการกินกันบ้าง เรื่องนี้ต้องพูดครับ เพราะถ้าคนไทยมาอยู่ที่นี่แล้วทานอาหารอินเดียไม่ได้ ก็ต้องพึ่งอาหารรฝรั่งกันล่ะครับ แถบ Brigade กับ M.G นี่มีของกินเยอะ พิซซ่าเอย อาหารจีนอาหารฝรั่งก็มี ถ้ากินพวกพิซซ่า, KFC ทุกวันตังค์หมดเอาง่าย ๆ เหมือนกัน คนขายที่นี่โดยมากจะเป็นผู้ชายครับ ไม่ค่อยเห็นผู้หญิงออกมาขายเท่าไหร่ ยิ่งวันแรก ๆ นี่หิวโซจนแทบจะกินแขกที่เดินข้าง ๆ ได้แล้ว เพราะเดินตระเวนหาซื้อตำหรับตำราเพลิน สี่โมงเย็นก็นัดเจอน้องหมี, น้องปุ๊และน้องมุนน่าเพราะจะไปช็อบปิ้งกันที่ Commercial Street ก่อนไปก็เข้าไปหาอะไรกินที่ร้าน American Corner สั่งข้าวผัดใข่ใส่มากิน พอเอามาเสริฟให้เท่านั้นล่ะ โอ้โห ดู ๆ ไปชามก็ไม่ใหญ่มาก แต่ข้าวผัดไข่นี้อัดมาแน่นเลย พอแบ่งออกมาก็ฟูเต็มจานเลยครับ ส่งต่อให้น้อง ๆ ก็ไม่มีใครช่วยผมเลย แต่ด้วยความที่หิวโซเลยซัดจนหมด จานนี้ 38 รูปีครับ และต่อจากนั้นก็ไม่ได้กินอะไรอีกจนถึงตอนดึกเพราะอิ่มมาก ก็นี่ล่ะครับถึงบอกว่าอาหารมีให้กินเยอะ อาหารที่คนไทยอย่างเรา ๆ กินได้ก็มีอยู่เยอะ และที่สำคัญปรุงสุขและสะอาดครับ แบบนี้ต้องพูดว่าถ้าอยู่แถว Brigade Road กับ M.G Road แล้วอดตายล่ะก็ อย่าไปอยู่ที่อื่นเลยดีกว่า

อยู่ที่นี่สิ่งที่อยากกินเป็นอันดับแรกก็คือน้ำเปล่า แรก ๆ ผมซื้อน้ำเปล่ายี่ห้อ Aquafina ของ Pepsi ขนาด 1 ลิตรมากิน ขวดละ 12 รูปี วันหลัง ๆ ไปเดินหาที่ซุปเปอร์มาเก็ต Food Word (ที่ M.G. Road) ได้มาขวดละ 2 ลิตร ยี่ห้อ Kinley ของ Coca Cola ขวดละ 18 บาท แบกกลับห้องพักทีละ 3-4 ขวด งานนี้แขนโตเลย น้ำอัดลมก็มีนะครับแต่จะไม่กินพร่ำเพรื่อขวดขนาด 0.5 ลิตรราคาจะอยู่ที่ 18 บาท แต่ถ้าท่านเดินหาดี ๆ จะเจอกับน้ำดื่มถังใหญ่ ๆ ขนาด 5 ลิตร ราคา Rs.45 ถ้ากินหมดแล้วอย่าทิ้งขวดนะครับ เพราะเอามาแลกซื้อขวดใหม่ได้ในราคา Rs.30 ซึ่งจะถูกกว่าการซื้อน้ำขวด 2 ลิตรมาก หรือถ้าแถว ๆ บ้านมีน้ำเป็นถัง ๆ อันนี้ก็ซื้อได้ แต่ต้องดูดี ๆ ระวังเจอพวกชอบโกงบางทีจะบอกว่าน้ำหมด กำลังรออยู่ และก็เอาน้ำก๊อกใส่ถังมาให้เราแทน เพื่อนคนไทยที่เรียนด้วยกันเจอมาแล้ว

และก็อีกครั้งกับเหตุการณ์หิวโซอีกแล้ว เดินช็อปมาหลายที่ หิวก็หิว จะหากินในห้างก็ราคาสูง เลยจับรถกลับมาที่ถนน Brigade ขอกลับมาตายรังดีกว่า โชคดีที่เหลือบไปเห็นหน้าซอยเข้าบ้านพักมีหม้อใหญ่ ๆ และมีคนกำลังซื้ออยู่ 3-4 คน เข้าไปชะโงกดูปรากฏว่าเป็นข้าวหมกไก่ครับ หรือ Chicken Biriyani แค่นั้นล่ะ เอามาเลยหนึ่งห่อ Rs.20 ครับ ก็ถามว่าขายทุกวันหรือเปล่า เขาก็ว่าขายทุกวัน บ่าย ๆ จะเป็นข้าวหมกไก่ แต่ดึก ๆ ประมาณ 2 ทุ่มจะเป็นข้าวผัดไข่ เขาก็ตักใส่ห่อมาให้แบบห่อบะหมี่เกี้ยวบ้านเราน่ะครับ มีกระดาษและแผ่นพลาสติกรองเรียบร้อย ดูจากสภาพภาชนะแล้วสะอาดใช้ได้และที่สำคัญคือกำลังร้อน ๆ เลย ตักใส่ห่อมาให้เหมือนกับว่ากลัวขายไม่หมด แกให้ไก่มา 2 ชิ้น เป็นอกกับน่องพร้อมกับหอมแดงซอยและน้ำราด ที่นี่ไม่ใช้หนังยางรัดนะครับ แต่จะมัดด้วยด้ายเส้นเล็ก ๆ พอเอากลับมากินที่ห้องพัก เปิดออกมาดูข้าวฟูเต็มห่อเลย กินไม่หมดอีกแล้ว ต้องแบ่งไว้กินตอนเย็นกับตอนดึกด้วย กินร้อน ๆ อร่อยดีครับ จะอร่อยเพราะเราหิวหรือเขาทำอร่อยก็ไม่รู้ล่ะ แต่ที่รู้ ๆ ผมฝากท้องกับแขกหน้าซอยนี้ได้แน่ ๆ คงไม่ต้องเดินไปกินไกล ๆ อีกแล้ว พอรู้อย่างนี้ดึก ๆ สักหนึ่งทุ่ม ผมก็มักจะเดินอาด ๆ ออกมาซื้อข้าวผัด (Fired Rice) หรือไม่ก็ไก่ทอด (Fired Chicken) ที่เรียกว่ากะบับ (Kabab) ที่ร้านใกล้ ๆ กัน ไก่ทอดของเขาจะใส่เครื่องเทศหอม ๆ ไม่ฉุนและไม่เผ็ดอย่างที่คิดไว้ กินครั้งแรกแล้วติดใจเลยครับ เพราะเป็นไก่ชิ้นอกหั่นเป็นท่อน ๆ ทอดกรอบ ๆ ที่สำคัญคือนุ่มมากไม่รู้ว่าเขาหมักอย่างไร ไก่ทอดนี้เขาก็ขายทีละ 100 กรัมก็แค่ Rs.12 ได้มาประมาณ 5-6 ชิ้น มัดใส่ห่อมาให้พร้อมหอมแดงซอยและมะนาวอีกครึ่งลูก จินตนาการนะครับไก่ทอดร้อน ๆ บีบมะนาวแกล้มหอมแดงกินกับข้าวผัดไข่จะอร่อยเหาะขนาดไหน อันนี้ต้องมาชิมเองนะครับ พอไปซื้อกินบ่อย ๆ เข้าหลัง ๆ คนขายเห็นผมเดินมาชูนิ้วชี้เขาก็รู้แล้วว่าอาตี๋นี้เอาข้าวผัด 10 รูปี โดยมากจะใส่ห่อมากินที่บ้าน และการสั่งใส่ห่อในวันแรกนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะจะพูดว่า Pack ก็คงจะไม่ตรงนัก เลยต้องใช้ "Take home 10 Rupee" แบบนี้ค่อยรู้เรื่องกันหน่อย หรือใช้คำว่า Parcel (พ้า-ซึ่ล) ก็เป็นที่รู้กันว่าเอากลับบ้านนั่นเอง

THIS IS CHICKEN BIRIYANI.... SO NICE TASTE

นอกจากร้านที่ว่านี้ก็ยังมีอีกหลายที่ครับในถนน MG. กับ Brigade ยิ่งถ้าเดินเข้าไปในตรอกเล็ก ๆ ที่ขายเสื้อผ้าแถว ๆ Commercial Street ก็จะมีขายไก่ทอดหรือจะเป็นผักชุบแป้งทอด เขาจะเอาพวกมันฝรั่ง, พริกหวาน, กล้วยเอามาชุบแป้งทอดกรอบ ๆ ชิ้นละ 1-2 รูปี เดินไปกินไปอิ่มแทบจะไม่ต้องกินข้าวเย็นเลย ถ้าไปเดินเที่ยวที่ไหนไกล ๆ ก็มองหาร้านพวกนี้ไว้ครับ เขาเห็นเราเดินเข้าไปถามเขาก็ชอบใจแล้วล่ะและก็ไม่โกงเราด้วยนะ ไม่ใช่ว่าขายแขกด้วยกันชิ้นละ 1 รูปี แต่เขาเรา 2 รูปีแบบนี้ไม่มีให้เห็นครับ พูดเรื่องของกิน ยิ่งพูดยิ่งไม่จบเพราะมีอะไรให้เลือกเยอะ ที่บังกาลอร์นี้ไม่มีร้านเซเว่นหรือโลตัสให้เห็น แต่จะมีพวกซุปเปอร์มาเก็ตเช่นที่ Food World ซึ่งอยู่ติดกับ M.G Road หรือที่ Nilgiris ที่อยู่บน Brigade Road ที่ Nilgiris นี้เปิดให้บริการมานานมาก ปีที่ผมไปเขากำลังฉลอง 100 ปีพอดี จะมีอาหารสำเร็จรูปหลายอย่าง ขนมนมเนย, แยมและอาหารแห้ง ผลไม้สดเช่นส้มหรือสตอเบอรี่นี้ก็ไม่แพงกล่องละไม่ถึง 50 รูปี

สำหรับนมสดที่นี่มีเยอะครับ ยิ่งผมเป็นคนชอบดื่มนมอยู่แล้ว ถ้านมสดที่เพิ่งรีดใหม่ ๆ ก็มีแต่ต้องออกไปหาไกล ๆ แต่ถ้าเป็นถุงขายตามร้านก็มี แต่ต้องดูให้ดีนะครับบางยี่ห้อเป็นนมที่ทำจากเนยเขาจะใส่ Masara ถ้าเอามากินล่ะก็จี๊ดขึ้นคอเลย ถ้าให้ดีไปซื้อจากซุปเปอร์ดีกว่า มองหานมกล่องที่มีรูปวัวหรือวัวแลบลิ้นน่ะครับ เป็นนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้วขายเป็นกล่อง 1 ลิตร มีหลายยี่ห้อครับ อย่างนมของ Nestle นี้รสชาติก็ไม่ต่างจากบ้านเรา ราคาอยู่ที่ Rs.30 แต่ยี่ห้อที่ผมชอบซื้อก็คือ Amul Shakti ราคาอยู่ที่ Rs.24 มีทั้งแบบพร่องมันเนยกับธรรมดา แต่ก็มีนมประเภทที่เรียกว่า Curd คือ นมข้น ๆ เหนียว ๆ แบบโยเกิร์ต ตักกินได้เลย ใครชอบแบบนี้ก็ซื้อมากินได้ หรือถ้าจะให้ถูกหน่อยก็หานมถุงละ Rs.7 จะได้มาครึ่งลิตร หาซื้อตามร้านได้ มีขายเยอะครับ แต่จะต้องเอามาต้มก่อนพอเย็นแล้วก็กินได้เลย หรือจะไปเอาไปทำเป็นชาร้อนกาแฟร้อนก็ได้ครับ

จะเล่าอะไรให้ฟัง ไอ้เรื่องนี่ล่ะ เล่าไม่อายเลย ไปซื้อนมมา อยากกินมาก เลยได้มาถุงหนึ่ง Rs.7 กินไป เอ้อ อร่อยนะ สักพักเข้าห้องน้ำเลย จู๊ดเลย ก็คิดว่า เอ... สงสัยคงจะปกติ พอกินอีก เป็นอีกแล้ว เหมือนเดิมเลย.. อะไรเนี่ย... วันรุ่งเช้าไปหาคนขาย ถามว่านมแบบเนี้ย กินได้เลยมั้ย เขาก็ว่าไม่ได้ ต้องต้มก่อน นั่นไง เจอต้นเหตุแห่งทุกข์แล้ว... ชัดเลย อีเมื่อวานที่เข้าห้องน้ำก็เพราะอีกแบบนี้นี่เอง เพราะนมที่ซื้อเป็นถุงๆ 7 บาทนี่เขาจะเอาไปต้มกิน หรือต้มทําเป็นชาร้อนกัน โถ่ถังโถ่ปิ๊ป ใครจะไปรู้ หลังๆ ถ้าอยากกินนมแบบเปิดกล่องกินได้เลย ก็ต้องไปหาแบบพาสเจอไรซ์แทน จึงกินได้โดยไม่ต้องต้มไงครับ...

ถ้าเป็นขนมปังสไลด์แบบบ้านเราก็มี ขนมปังที่ผสมผักก็มีครับ เอามากินกับแยมผลไม้ขวดละไม่กี่บาทก็อิ่มได้เหมือนกัน ถ้าอยากกินน้ำส้มก็ซื้อกล่อง 1 ลิตร ประมาณ 40 รูปีกว่าๆ บ้างก็ 60-70 เท่ากับบ้านเราแล้วแต่ยี่ห้อ แต่มียี่ห้อของไทยด้วยนะครับไปขายที่นั่น ซื้อไม่ลงเลยเพราะค่อนข้างแพง ของที่นำเข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะค่อนข้างแพงถึงแพงมาก อาจจะเป็นเพราะว่าโดนภาษีไปจนจุกก็เป็นได้ และเท่าที่สังเกตมาการตั้งราคาของจะไม่ค่อยมีส่วนลดเท่าไหร่นัก เช่น ถ้าเราซื้อนมกล่องบ้านเรากล่องละ 30 บาท ถ้าซื้อยกแพ็คก็จะได้ส่วนลดใช่มั้ยครับ แต่ที่นี่ถ้าซื้อยกแพ็คก็ได้เหมือนกัน แต่จะลดได้แค่ 1-2 บาทเท่านั้น บางอย่างก็ไม่ลดเลย ถ้าจะให้ดีต้องไปเดินซื้อที่เขาจัดโปรโมชั่น แบบว่าซื้อ 3 กล่องลดเหลือกล่องละ 42 รูปีก็มี ถ้าไม่อยากออกไปเดินหาอาหารทุกมื้อ

การทำอาหารเองในห้องพักนั้นก็ไม่ยากครับ เพราะที่นี่มีวัตถุดิบเยอะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร, เส้นก๋วยเตี๋ยว, มักกะโรนี, ผักสด, หอมใหญ่, มะเขือเทศ, กระหล่ำปลี, และก็เครื่องเทศพวกพริกไทย และก็ผงโน่นผงนี่มีเยอะไม่รู้จักสักอย่าง ่านก็เตรียมพวกหม้อเล็ก ๆ หรือกระทะแบบเสียบปลั๊กไปด้วยจะสะดวกมากเวลาทำอาหาร สำหรับอาหารประเภทผักนี้จะทำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก, ซุปผัก หรือถ้าต้องการเนื้อไก่ก็ไปหาตามซุปเปอร์มาเก็ตได้ จะมีขายเป็นแพ็ค ๆ สะอาดเหมือนบ้านเราครับผักผลไม้ที่นี่ขายไม่แพงและสดอีกด้วย ส่วนมากจะคนอินเดียที่เป็นมังสะวิรัติ (Vegetarian) เยอะ ผักผลไม้ก็เลยสดเป็นพิเศษ อย่างหอมใหญ่ที่นี่ เขาจะมัดเป็นถุง ๆ ลูกเล็กใหญ่คละกันถุงละ 1 กิโลก็ Rs.16 ถ้าเป็นมะเขือเทศก็เหมือนกันราคาถูกหน่อย Rs.6.50 พริกไทยแบบถุง 100G ที่นี่ถุงละ Rs.39 รวม ๆ แล้วก็ดีกว่ากินพิซซ่าทุกมื้อ ได้รสแบบไทย ๆ อีกด้วย แต่เวลาทานทำอาหารไทยกินเองที่อินเดีย อย่าลืมเอาน้ำปลาไปด้วยนะครับ ที่อินเดียเขาใช้เกลือกัน ท่านจะได้ไม่พลาดน้ำปลาพริกไงล่ะครับ

อินเดีย-08 : ใครจะไปเมืองแขก จําคาถานี้เอาไว้ "ฉันเป็นนักเรียน...... บ้านฉันอยู่โน่น"

I'm a student, I'm staying here. My home is over there.

ประโยคนี้ใช้ได้ดีสำหรับผมเลยครับ ด้วยความที่หน้าตาเหมือนกับคนอินเดียมาก เวลาไปไหนกับพวกรถออโต้เลยมักจะโดนราคาสูงกว่าคนท้องถิ่น บ้างก็ไม่ยอมเปิดมิเตอร์ แต่จะเหมาไปเลย Rs.50 หรือ Rs.40 ก็มี แล้วอย่างผมจะให้เขาหลอกง่าย ๆ ได้อย่างไร อย่างตอนที่กลับมาจากเดินที่ห้างฟอรั่ม พอเดินออกมาจากห้างก็มีพวกคนขับที่จอดรถอยู่แถวนั้นเข้ามาถามว่าจะไปไหน ผมก็ว่าจะไป Brigade ดูผิวเผินนี่ก็รู้ได้ว่าผมคงจะเป็นนักท่องเที่ยว แล้วแถว MG. กับ Brigade นี่ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวช็อปปิ้ง ผมก็บอกให้เปิดมิเตอร์ คนขับก็ทำคอยึกยักแปลว่า OK พอขึ้นไปนั่งปั้บมันหันมาบอกว่าจะพาไปเอาแค่ Rs.50 โอ้โห ขูดเลือดกันซึ่ง ๆ หน้า คิดว่าไม่รู้หรือไง วิ่งจากห้างฟอรั่มไป Brigade มันวิ่งเป็นเส้นตรง ถ้าตามแผนที่และมันก็เป็นอย่างนั้นจนิง ๆ อย่างดีก็น่าจะประมาณ 3-4 กิโล ถ้าเปิดมิเตอร์ก็ไม่น่าจะมากกว่า 20 รูปี เพราะ 2 กิโลเมตรแรกจะคิด 10 รูปี และทุก ๆ 100 เมตรจะคิด .5 รูปี (หรือ 50 เพซา) พอคนขับจะเอา 50 รูปี ผมก็โอเคบ๊ายบาย โดดลงทันที ไม่สนใจ ไปหาคันอื่นก็ได้ พอไปขึ้นอีกคันมันก็บอกว่ามิเตอร์เสีย แถมเอามือจับมิเตอร์หมุนให้ดูเพื่อให้รู้ว่ามันเสีย แต่แกจะเอา 40 รูปี ก็เลยโดดลงอีก โดดขึ้นลงอยู่อย่างนี้สองรอบ เลยไปโบกคันที่กำลังวิ่งผ่านมาบอกให้เปิดมิเตอร์คนขับก็ OK แต่พอไปถึงที่ ๆ ผมพอรู้จักและเดินต่อได้เอง ผมก็ให้มันจอด "OK friend, drop me here" มิเตอร์บอกราคามา 20.5 รูปี แต่คนขับทำคอยึกยักชูมา 3 นิ้ว คือจะขอ 30 รูปี เอาอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าใจร้ายหรอกนะ แต่เราก็ต้องประหยัดเหมือนกันนี่ อยากบอกให้เข้าใจว่าประเทศไอไม่ใช้ได้เงินดอล มายคันทรี่โนคอลล่าร์นี่ก็กะไรอยู่ จะจ่ายให้ตามมิเตอร์ก็ไม่เอา ยืนกรานจะเอา 30 ท่าเดียว ก็เลยบอกมันว่า "Hey, I'm not a traveler. I'm a student and staying over there." พร้อมกับชี้นิ้วไปทางถนนที่ผมอยู่เพื่อบอกให้รู้ว่า ผมไม่ใช่นักท่องเที่ยวนะ เป็นนักเรียนและก็อยู่แถวนี้ด้วย ได้ผลครับถ้าไปเจอคนขับที่ฟังอังกฤษออก เจ้าคนขับก็ทำเหมือนว่าจะเอาดีไม่เอาดี เมื่อไม่รับเงินเอง ผมก็เลยวางเงินไว้ที่หน้ารถ 20 รูปีแล้วผมก็หายวับข้ามถนนไปเลย จริง ๆ แล้วอีก .5 ที่เกินมานี่เวลาคิดจะปัดให้เป็น 1 ครับ แต่ผมก็ไม่ได้ให้ไปเพราะว่าไม่มีเหรียญ 1 รูปี มีแต่แบ๊งค์ใบละสิบ เกิดให้ไป 30 คิดว่าคงจะไม่ได้เงินทอนแน่นอน

พอรู้ว่าประโยคนี้ดูน่าจะมีความขลัง ผมก็เริ่มใช้ทุกครั้งที่มีปัญหากับคนขับที่ชอบพาเราออกนอกทางไปปล่อยร้านเครื่องเงิน บางคนก็ขอ 10 รูปี แต่จะปล่อยเราไว้ที่ร้านสินค้าพื้นเมืองก็มี เราต้องรู้ว่าเรามาเพื่ออะไร อย่างผมมาเพื่อที่จะหาความรู้ มาหาตำหรับตำรา มาเขียนหนังสือ มาหาที่เรียนคอร์สระยะสั้นด้านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มาเที่ยวหาซื้อผ้าไหมหรือเครื่องเงิน พอเวลามีใครเดินตามมาบอกว่าจะพาไปเที่ยว Commercial Street มาบรรยายสรรพคุณให้ฟังว่าที่นั่นมีของดี ๆ เยอะ ราคาถูก อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าตามมาแบบไม่ลดละก็ต้องบอกให้เข้าใจว่า "I'm sorry my friend, here is my home." แค่นี้ก็ได้ผลครับ พี่แขกแกหายวับไปเลย... มนต์นี้ใช้ได้ ใครจะลองเอาไปใช้ดูก็ได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ต้องทำตัวไม่ให้เหมือนกับนักท่องเที่ยวก่อนนะ ต่ออีกนิดสำหรับการเดินทางด้วยรถออโต้ที่นี่ พอขึ้นบ่อย ๆ ก็เจอเหตุการณ์แปลก ๆ บางคนก็ขับดี สุจริต แต่บางคนเห็นเราหน้าขาว ๆ คาถาก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะคนขับบอกว่าไม่มีเงินทอน เช่น นั่งมา 13 รูปี พอจะจ่ายเงินก็ไม่มีเหรียญ มีแต่แบ๊งค์ใบละ 20 พอขอเงินทอนมา 7 รูปี คนขับก็บอกไม่มีแบบนี้คาถาก็ใช้ไม่ได้ จะไปล้วงหาเศษตังค์ที่ใครก็ไม่ได้แล้วตอนนั้นเลยต้องเสีย 20 รูปีเลย แต่ก็ต้องบอกให้ขับไปส่งให้ใกล้ ๆ กว่านี้จะได้คุ้มกับ 20 รูปีหน่อย หลัง ๆ พอเจอแบบนี้บ่อยเข้าเวลาซื้อขอกับร้านค้าก็ต้องจ่ายด้วยแบ๊งค์เพื่อให้ได้เงินเหรียญเล็ก ๆ มาเยอะ ๆ เพื่อที่จะเอาไปจ่ายให้คนขับที่ชอบไม่มีเงินทอน ไม่เช่นนั้นถ้าเสียเพิ่มทุกวัน ๆ ละ 6-7 รูปี 10 วันก็ 60รูปีเข้าไปแล้วขาดดุลการค้าแน่นอนอีแบบนี้

อินเดีย-09 : ตะลุยร้านหนังสือ

ตะลุยร้านหนังสือ

จุดหมายของผมในการมาที่นี่คือมาให้ได้ความรู้มากที่สุดเพื่อที่จะนำประสบการณ์ความแตกต่างของอินเดียกับเมืองไทยนี้ไปปรับใช้และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนต่อไป โดยเฉพาะสื่อที่เป็นตำราด้านไอที ที่บังกาลอร์นี้มีที่เรียนระยะสั้นเยอะ บ้างก็ 1 ปี 6 เดือนหรือ 3 เดือนก็มีในวิชาด้านไอที ไม่ว่าจะเป็น Programming, Operating System, Autocad ฯลฯ ก็แล้วแต่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องหาหนังสือพิมพ์มาเปิด ๆ ดู โทรไปติดต่อถามรายละเอียดเขาก่อน ถ้าสนใจก็ไปหา จ่ายตังค์กันตรงนั้น (พร้อมค่าภาษี 10%) และเขาก็จะให้ใบเสร็จและเราก็เข้าไปเรียนตามที่นัดเอาไว้ ไม่ยากครับ ค่อนข้างเรียบง่าย เขาจะยังใช้ระบบ Manual กันอยู่ คือ จดใส่สมุดเป็นเล่ม ๆ เลย ดูเลขที่แล้วก็อ้างอิงได้ว่าเป็นใคร จะเขียนใบเสร็จทีก็ขยับปากกาเดี๋ยวเดียว เร็วกว่ามาใช้คอมพิวเตอร์อีก เมื่อใคร ๆ ก็เห็นกันว่าบังกาลอร์เป็นเมืองแห่งโปรแกรมเมอร์ การที่จะเป็นอย่างนั้นได้ แสดงว่าที่นี่จะต้องมีทรัพยากรความรู้ที่ดี ว่ามั้ยครับ นั่นล่ะ คือจุดประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะไปหาตำหรับตำราที่ควานหาจากอินเตอร์เน็ตหรือหาจากเมืองไทยไม่ได้ สมุนไพรดี ๆ มักจะอยู่ในป่าลึก หรือถ้าอยากเรียนวิชาดี ๆ จะต้องดั้งด้นเดินทางไปแสวงหา ไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอกครับ เราเรียนรู้กันทั้งชีวิตล่ะครับ ดังนั้น การมาตะลุยครั้งนี้ไม่ผิดหวังเลย ข้อมูลเกี่ยวกับร้านหนังสือในบังกาลอร์มีอยู่พอสมควรบนอินเตอร์เน็ต แต่หลาย ๆ ร้านก็เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ แต่ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่าร้านไหนมีหนังสือสไตล์ไหน และจะมีหนังสือที่เราสนใจหรือเปล่า

แถว ๆ M.G.Road มีร้านหนังสือหลายร้านครับ เช่น Book Paradise, Book Cellar, Higginbothams, Gangarams โดยเฉพาะสองร้านสุดท้ายที่กล่าวไป ทั้งตึกมีแต่หนังสือ มีทุกประเภท ตั้งแต่ Children book, College book, หนังสือด้านคอมพิวเตอร์ และบริหาร (Management) มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี สำหรับภาษาท้องถิ่น Kanada นี่ก็มีครับ แต่จะเป็นบางเรื่อง เช่น นิยาย, นิตยสาร โดยมากมากกว่า 90% เป็นภาษาอังกฤษหมด นอกจากนี้ถนนที่ขนานกับ M.G.Road ก็มีร้านหนังสืออีก 2-3 ร้าน อย่างเช่นที่ Shrungar Shopping Center ก็จะมีร้าน The Bookpoint และ Computer Book Center ที่จะจำหน่ายหนังสือซีรี่ย์ Teach Yourself และหนังสือจาก BPB Publisher ของอินเดีย และนอกจาก Publisher ของอินเดียแล้ว บริษัทหนังสือคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ เช่น Wrox, O Reilly และค่ายหนังสือดัง ๆ จากต่างประเทศก็มาตั้งรกรากกันที่นี่เพื่อทำการพิมพ์ซ้ำ หรือ reprint หนังสือ และจำหน่ายเฉพาะในประเทศแถบนี้ ซึ่งก็จะมีประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, บังคลาเทศ, เนปาล, นอกจากนี้ก็ยังกระจายไปยังโมรอคโค, ลิเบีย และอาจจะไปถึงแอฟริกาใต้ เขาจะไม่จำหน่ายไปประเทศในแถบอื่น คิดดูง่าย ๆ ก็ได้ครับว่าประเทศแถบนี้มีประชากรกันน้อย ๆ ซะเมื่อไหร่ ดังนั้นการมา reprint หนังสือเพื่อจำหน่ายให้กับคนกลุ่มแถบนี้ก็กอบโกยกำไรได้หลายเหมือนกันนะครับ ที่เขาทำได้ก็เพราะว่าจำนวนผู้รู้ภาษาอังกฤษและจำนวนผู้ที่ศึกษาด้านคอมพิวเตอร์นั้นมีปริมาณมาก เอาแค่ reprint และจำหน่ายแค่อินเดียผมก็ว่าน่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำกันแล้ว เพราะนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ตาม University หรือเรียนใน College ต่าง ๆ ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์ นอกจากจะมีตำราให้เลือกมากมายแล้ว ยังราคาถูกอีก เล่มหนา ๆ ที่ขายในบ้านเราเป็นพัน ๆ ไปอยู่ที่โน่นเหลือเล่มละ 200 หรือ 500 ก็มี อาจจะเป็นเพราะค่าครองชีพที่นี่ไม่สูง และค่าจัดพิมพ์ถูกกว่าบ้านเรา

สำหรับเรื่องของคุณภาพกระดาษนั้นก็บอกได้ว่าไม่ดีเท่าของจริง แต่จริง ๆ แล้วจากที่เปิดดูมาหลายเล่ม คุณภาพการพิมพ์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากต้นฉบับ คือ ได้เนื้อหาเท่ากัน แต่ต่างกันที่กระดาษ ท่านต้องการเนื้อหาหรือต้องการคุณภาพกระดาษล่ะ บางเล่มหยิบปกขึ้นมาเปิดดูข้างในแล้วยังดูไม่ออกเลยว่าเป็นการ reprint ดังนั้น การ reprint นี่ไม่ใช่เอาหนังสือมา Xerox ขายนะครับ มันเหมือนกับการเอาไฟล์หนังสือที่เป็น PageMaker มาทำเพลตและตีพิมพ์ใหม่ที่นี่และใช้กระดาษที่นี่นั่นเอง สาระที่สำคัญอยู่ที่เนื้อหาข้างในครับ มันทำให้เขาไปได้ไกลกว่าเราหลายเท่า ในขณะที่หนังสือคอมพิวเตอร์เมืองไทยราคาเล่มละ 300-500 แต่ที่อินเดียเล่มละประมาณ 150-600 แต่เป็น Text Book คอมพิวเตอร์ในระดับแนวหน้าเลย ท่านก็คิดดูแล้วกันว่าจะไม่ให้เขาไปไกลกว่าเราได้อย่างไร ด้วยเหตุผลข้อเดียวครับ ประชากรของเขาอ่านภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจ จึงสามารถอ่านตำราพวกนี้ได้ กลุ่มเป้าหมายของตลาดเลยมีเยอะพอที่จะมา reprint หนังสือไงครับ ถัดจากถนน M.G. เดินตามถนน Brigade มาเรื่อย ๆ จนถึง Resiency Road (FM Cariappa Road) เลี่ยวซ้ายมาก็จะเจอ Crossword ซึ่งจะแปลกกว่าที่อื่น เพราะจะมีแอร์และเก้าอี้ให้นั่งด้วย สำหรับผมแล้วเวลาอยากได้หนังสือแต่ไม่อยากเสียตังค์ซื้อ ก็จะใช้เวลาครึ่งวันที่เหลือไปนั่งแช่แอร์อยู่ที่นี่ล่ะครับ เดินหยิบหาอ่านวันละเล่มสองเล่ม ตกเย็นก็เดินกลับบ้านตังค์อยู่ครบแต่ได้ความรู้กลับมาเพียบ จะว่าไปแล้วการตกแต่งร้านของ Crossword นี้สว่างและเจิดจรัสกว่าร้านอื่น ๆ หรือถ้าไปเดินช็อปปิ้งที่ Kolamangala ไปเดินห้างฟอรั่มก็จะมีร้านหนังสือขนาดใหญ่ชื่อว่า Landmark ที่นี่มีหนังสือทุกประเภท อยากได้เล่มไหนไปเลือกเอาได้ นอกจากนี้ยังมีบันไดเชื่อมต่อไปยังชั้นบน ซึ่งจะเป็นที่จ่ายตังค์ และขายพวก CDROM เพลงและภาพยนต์ และถ้าจะไปเดินเที่ยวแถว ๆ Ghandi Nagar ก็มีมีร้านหนังสืออีก 4-5 ร้าน เช่นSapna Book House หรือ USB.Publisher และก็ร้านหนังสือ Law Book อีกหลายร้าน เอาเป็นว่า เดินไปช็อปปิ้งที่ไหนก็จะต้องมีหนังสือให้หยิบอ่านที่นั่นล่ะ ถ้าให้พูดถึงร้านหนังสือก็คงจะพูดไม่หมด ยกตัวอย่างหนังสือคอมพิวเตอร์ให้ดูกันสักนิดดีกว่า ว่าราคาหนังสือนั้นมันเท่าไหร่กันบ้างเมื่อเทียบกับราคาที่นำเข้ามาขายในเมืองไทย

* 1. หนังสือ CCNP, CCDA, CCNA, CCSP (Cisco Secure VPN) ของ Cisco ราคาอยู่ที่ Rs. 499
* 2. CISCO Cookbook, 918 pages. Rs.700
* 3. Designing Embedded Hardware. 324 pages. Rs.250
* 4. Developing Bio-informatics Computer Skills, 504 pages. Rs.225
* 5. MCSE (MS Certified System Engineering) Rs.159
* 6. MCSE 4 in 1 Study System. Rs. 799
* 7. Java Head First (O'Reilly) Rs.450.
* 8. Enterprse JavaBeans (Covers EJB 2.1&EJB 2.0) 4th Editionm 798 pages. Rs.500
* 9. Programming in C#. Rs.175.
* 10. Data Structure Principles and Funamentals. Rs. 159.
* 11. C# Tips and Techniques. Rs.374
* 12. Java Networking (Wrox) Rs.559.
* 13. Compiler by C. Rs.399
* 14. Java Servlet Programming. 2ndEd. 786 pages. Rs.500
* 15. ASP.NET (Wrox) Rs.590.
* 16. Pratical VoIP Using VOCAL. Rs.450
* 17. Oracle Applications Server 10g Essentials, 292 pages. Rs.275.
* 18. Virtual Private Network, 2ndEd. 288 pages. Rs.150
* 19. Programming Flash Communication Server, 824 pages. Rs.500
* 20. Linux Desktop Hacks, 384 pages. Rs.350

ใครที่เป็นคอหนังสือคงจะน้ำลายหกแล้วล่ะสิครับ สำหรับผมคอแห้งจนเหือดหมดแล้ว ยิ่งที่นี่หนังสือ .NET และภาษา C/C++/Java เยอะมาก หนังสือคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไปเช่น Office/Word/XP ก็มี แต่ที่เมืองไทยผมว่าดีกว่าครับ เพราะสไตล์การใช้งานของคนไทยจะเป็นที่รู้กันดีว่าจะใช้งานเอกสารประเภทไหน ใช้ทำอะไร อย่างหนังสือสอน C/C#/Java หรือด้าน Networking/Linux ที่นี่ก็มีเยอะ แต่ต้องขอบอกว่าซื้อหนังสือคนไทยดีกว่าครับเพราะอธิบายเป็นภาษาไทย ยกเว้นต้องการเทคนิคบางอย่างที่ไม่มีบอกเป็นภาษาไทย นี่ล่ะถึงน่าซื้อมาเก็บไว้ และจากการที่ผู้เขียนเองอยู่ในวงการหนังสือมา พอได้มาเปรียบเทียบแล้วก็พบว่าหนังสือของไทยเขียนได้ละเอียดไม่แพ้กันเลยครับ บางเล่มของไทยเราอธิบายได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป แต่ที่น่าซื้อก็เห็นจะเป็นหนังสือชั้นสูงที่เจาะเฉพาะทาง เช่น Mobile Networking, การเขียน Java บนมือถือ หรือ Embed System ก็มี สำหรับหนังสือด้าน Computer Science มีให้เห็นทั่วไปครับไม่ว่าจะเป็น Neural Network, AI, ANN (Artificial Neural Network), Digital Signal Processing, Image Processing และ Data Structure มีทั้งแบบที่เขียนโดยคนอินเดียและแบบ reprint ก็มีให้เลือกหลายเล่มและน่าซื้อมาก รายละเอียดของประเภทหนังสือนี้คงจะพูดได้ไม่หมด ขอยกมาพูดต่อในบทต่อ ๆ ไปก็แล้วกัน.

และนอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ด้านคอมพิวเตอร์เช่น English Speaking/ Book of English Conversation หรือ Dictionary ที่นี่จะถูกมาก หนังสือ English Grammar ดี ๆ เขียนโดยคนอินเดียราคาเล่มละ Rs.100 หนังสืออ่านเล่นอย่างพ่อมดน้อยแฮรี่ก็มีให้หยิบอ่านกันเล่มละ Rs.280 ถ้าซื้อแบบใหม่แกะกล่องนะครับ แต่ถ้าไม่ต้องการซื้อหนังสือมือหนึ่ง หนังสือมือสองก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่สำหรับหนังสือคอมพิวเตอร์มือสองนั้นหาไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เพราะแค่มือหนึ่งนี่ก็ราคาถูกอยู่แล้ว คงไม่ต้องถึงกับหาแบบมือสอง ร้านหนังสือมือสองหรือ Used Books Shop นั้นจะมีให้เห็นทั่วไปในบังกาลอร์ เดินไปตามถนนบางทีเจอวางขายติด ๆ กัน บ้างก็เป็นร้าน บ้างก็แค่วางบนเสื่อ โดยมากจะเป็นหนังสือนิยายและหนังสืออ่านทั่ว ๆ ไปเช่น Big Fish, I took your cheese หรือหนังสือนิยายของ Steven King, James Patterson, Robin Cook, Dan Brown จะเยอะมาก ๆ และที่สำคัญราคาถูกกว่าหนังสือใหม่ครึ่งต่อครึ่งเลย เช่น หนังสือของ Robin Cook เรื่อง ABDUCTION ถ้าไปซื้อตามร้านจะอยู่ที่ 320 รูปี แต่ถ้าซื้อจากร้านมือสองก็แค่ 80-95 บาท สภาพยังดี ๆ อยู่เลย บางเล่มอย่าง Jurassic Park ภาคหนึ่งแค่ 70 บาทเองเพราะเป็นหนังสือเก่า พ่อมดน้อยแฮรี่ ราคาเล่มละไม่เกิน 100 รูปี และหนังสือบางเล่มพอมา reprint ในอินเดีย ราคาก็ยิ่งถูกลงไปอีก คนอินเดียนี่ชอบอ่านหนังสือกันครับ แต่ถ้าหนังสือเก่า ๆ บางร้านเขาก็จะเขียนเอาไว้ว่า "PICK ANY RS.20" คือ ทุกเล่ม 20 รูปี หรือบางเล่มก็ 10 รูปีก็มีแล้วแต่ความหนาของหนังสือ

สำหรับการชำระเงินเวลาซื้อของนั้น ถ้าเป็นตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ สามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิตได้ด้วย อย่างบัตรเครคิตธนาคารกรุงศรีอยุธยาหรือกสิกรไทยที่มีโลโก้ VISA หรือบัตรเดบิตที่มีโลโก้ Visa Electron ก็จะช่วยทำให้ไม่ต้องพกเงินสดติดตัวมาก หลาย ๆ ร้านไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือหรือร้านขาย CD เพลงจะรับจ่ายด้วยบัตรพวกนี้ได้หมด สังเกตป้ายหน้าร้านหรือสอบถามเขาก็ได้ครับ แต่ขั้นต่ำของการจ่ายด้วยบัตรเครดิตรู้สึกว่าจะเป็น Rs.250 ครับ ซึ่งก็อาจจะแล้วแต่บางที่ก็ได้ อันนี้ก็ต้องไปสอบถามที่ร้านก็แล้วกัน และถ้าหากเที่ยวจนเงินหมด ก็ไม่เป็นไรนะครับ บอกทางบ้านให้โอนเงินเข้าบัญชีที่มี Visa Electron อยู่ และไปกดเงินที่ตู้ ATM ที่มีโลโก้นี้ได้เลย อย่างผมไปกดเงินมา 3000 รูปี พอหักจากบัญชีจริง ๆ ที่เป็นเงินบาทก็แค่ 2,800 บาท เพราะเงินของเราแข็งกว่านิดหน่อย ดังนั้น ถ้าเลือกไปตอนเงินบาทแข็งกว่าเงินรูปี ก็จะดีไม่น้อยเลยครับ

อินเดีย-10 : ขอโทรกลับเมืองไทยสักหน่อยน่า

ขอโทรกลับเมืองไทยสักหน่อยน่า

การโทรกลับเมืองไทยหรือโทรไปหาใครในอินเดียไม่ยากครับ โดยมากจะมีร้านที่เขียนว่า STD/ISD เป็นระยะ ๆ บางร้านก็หลบตามซอกหาได้ไม่ยากครับ จะมีป้ายชูสลอนขึ้นมา เจอป้ายแบบนี้ที่ไหนก็เข้าไปยกหูโทรได้เลย ถ้าโทรกลับเมืองไทยก็จะกดหมายเลข 00 ตามด้วยรหัสประเทศไทยคือ 66 และก็ตามด้วยเบอร์โทรศัพท์ที่เราใช้กันในเมืองไทยได้เลย เช่น จะโทรหาเบอร์ 02-4119922 ก็จะกด 0066024119922 หรือถ้าจะโทรเข้ามือถือก็ต่อด้วยเลขมือถือได้เลย เช่นเบอร์ 09-1234455 ก็จะกด 006691234455 สำหรับค่าโทรก็ไม่แพงครับ ผมไม่เคยถามว่าอัตราค่าโทรกลับเมืองไทยนั้นเท่าไหร่ จะเท่าที่หารออกมาทุก ๆ ครั้งก็จะได้ประมาณ 14-15 บาทต่อนาที แต่ผมโทรเข้าจังหวัดนครปฐมนะครับ (034) ไม่ได้โทรเข้ากรุงเทพ (02) ในแต่ละตู้จะมีหน้าปัทม์ตัวเลขดิจิตอลบอกเลยว่าผ่านไปกี่วินาทีแล้วและเป็นเงินเท่าไหร่ เราคุย ๆ ไปมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาครับ เราดูตัวเลขก็กะประมาณได้ว่าถ้าถึง 50 รูปีเมื่อไหร่แล้วค่อยเลิกคุยก็ได้ ดังนั้น เวลาคุยก็จะต้องเหลือบดูตัวเลขเป็นระยะ ๆ ว่าจะถึง 50 รูปีหรือยังจะได้ล่ำลากันก่อนวางสาย การโทรทางไกลจะค่อนข้างหน่วงครับ ประมาณ 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น พอโทรเสร็จแล้วก็ดูว่าหน้าปัทม์บอกกี่รูปีและก็ไปจ่ายเงิน ทางร้านเขาก็จะมีเครื่องพิมพ์ใบเสร็จเล็ก ๆ ออกมา ก็ขอเขาดูก่อนนะครับว่าเบอร์นี้เป็นของเราหรือเปล่า ตัวเลขด้านล่างสุดจะบอกนาทีที่เราโทรไปและค่าโทร อย่างถ้าใช้เวลา 4.51 นาที ก็จะประมาณ 62.91 หรือ 63 รูปีนั่นเอง นอกจากการใช้ตู้ STD/ISD แล้ว

จะใช้โทรศัพท์มือถือก็ได้ ท่านสามารถเอาโทรศัพท์จากเมืองไทยไปใช้ได้โดยไปใส่ซิมการ์ดที่นั่น โทรศัพท์แบบเติมเงิน (Prepaid) ที่อินเดียมีหลายยี่ห้อเหมือนในบ้างเรา เช่น AirTel, Hutch หรือ Spice แต่ Hutch น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของผมตอนนั้น ผมเอาเครื่องเก่าที่เป็น Nokia ไปด้วย ไปซื้อซิมก็ราคา 99 บาท เวลาซื้อเราจะต้องเอาสำเนา Passport หน้าที่มีรูปกับหน้าที่มี VISA พร้อมรูปถ่าย 1 ใบไปด้วยเพราะจะใช้ในการสมัคร เวลาซื้อซิมมาจะมีใบสมัคร เราก็นั่งกรอกที่ร้านและส่งให้คนขายเขาได้เลย โดยในแบบฟอร์มจะถามชื่อ, ที่อยู่, วันเดือนปีเกิด, ที่อยู่ในอินเดียและที่อยู่ถาวร (ก็คือที่อยู่เมืองไทย) ฯลฯ จากนั้นติดรูปและก็ลงลายเซ็นรับรองที่สำเนา Passport กับที่รูป ทางร้านก็จะส่งไปให้ศูนย์ทำการ Activate แต่ก่อนจะใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีก็เปิดใช้ได้เลย แต่ปัจจุบันใช้เวลา 2 วัน พอ Activate เรียบร้อยแล้วก็ซื้อบัตรเติมเงินมากดเติมและโทรได้เลย ค่าบัตรเติมเงินที่นี่ค่อนข้างโหดเพราะเจอภาษีเข้าไป อย่างผมซื้อมา 400 รูปี ไม่รู้ว่าไปหักค่าอะไรอีกมากมาย โทรได้แค่ 263 รูปีครับ และใช้ได้แค่ 30 วันเอง พอหมด 30 วันก็ต้องเติมเงินใหม่ ไม่มีการเอาเวลามาแลกเป็นค่าโทรเหมือนในเมืองไทย สำหรับค่าโทรก็พอ ๆ กับบ้านเราครับ นาทีละ 3 บาทเมื่อโทรเข้าโทรศัพท์บ้านแต่ถ้าโทรเข้า Hutch ด้วยกันนาทีละ 1.5 รูปี หรือถ้าจะใช้มือถือโทรกลับเมืองไทยก็เหมือนกันครับ นาทีละ 15 บาทเช่นกัน สำหรับเบอร์โทรของ Hutch ที่ได้มาก็คือ 9886581448 ครับ เวลาโทรไปจกใครต่อใครในอินเดียก็จะกดเบอร์มือถือได้เลยโดยตรง และก็อย่างที่คุยไว้ครับ อินเดียนี่อะไรที่ไม่แน่นอนจริง ๆ และผมเองก็โดนทุกที คือ ซื้อซิมการ์ดมาใช้เขาบอกว่า 2 วันจะ Activate ให้และเติมเงินได้เลย ผ่านไป 2 แล้ว ยังใช้ไม่ได้ สัญญาณไม่มีเลยสักขีด ก็เลยไปหาคนขายที่ร้านซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ที่พัก คนขายก็โทรไปหาทางศูนย์ ตะโกนลั่นร้านเลย ดูก็รู้ว่ามันด่ากันอยู่ และก็บอกผมว่าคนเอาไปส่งทำหลักฐานของผมหาย ทั้งใบสมัครและสำเนา Passport เลยขอใหม่อีกชุดหนึ่งเขารับรองว่าจะเปิดให้ภายใน 5 นาที ก็เลยต้องเดินกลับไปเอาสำเนามาให้อีกชุดหนึ่ง 5 นาทีใช้ได้เลยครับ คนอินเดียนี่รับผิดชอบงานดี อ้อ... อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การถ่ายเอกสาร ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่ถ่ายเอกสารจนต้องถ่ายไปเยอะ ๆ นะครับ ให้มองหาป้ายที่เขียนว่า XEROX ตัวใหญ่ ๆ นั่นล่ะครับ ดูภายนอกแทบจะไม่รู้ว่ามีเครื่องถ่ายเอกสารเลย ค่าถ่ายแผ่นละ Rs.1 ครับ

อินเดีย-11 : วันวัมวันโกล

วันวัมวันโกล

ภาษาอังกฤษแบบแขกน่ารักไปอีกแบบ ฟังบ่อย ๆ ก็จะรู้ว่าเขาพูดอะไร พอชินแล้วก็จะเข้าใจได้เอง แต่ถ้าไปเข้าเรียนใน English School ภาษาอังกฤษนี้จะสำเนียงดีมาก แต่สำหรับคนทั่วไปนั้นโดยมากก็สามารถสนทนาภาษาอังกฤษกับเราได้ แต่ก็ไม่ทุกคนครับ อย่างคนขายร้านของชำข้าง ๆ บ้านพักเขาก็พูดได้ปร๋อเลย วันแรกที่ไปถึงบังกาลอร์ไปเดินหาซื้อน้ำขวดที่ร้านนี้ล่ะ ขวดละ 12 บาท บอกคนขายว่าจะเอา 2 ขวด เขาก็พูดออกมาว่า "วันวัมวันโกล" แค่นั้นแหละ ผมก็ยืนมึนพยายามคิดอยู่ว่าเขากำลังพูดอะไร เพราะเขาชูขวดน้ำขึ้นมาให้เราดู และเอานิ้วชี้ที่ขวดพร้อมกับพูดประโยคนี้ออกมา คำว่า "วัม" กับ "โกล" นี้พูดเสียงสั้น ๆ ก็เลยบอกให้พูดใหม่ เขาก็พูดคำเดิม พอคุยกันไม่รู้เรื่องก็เลยต้องพูดแกมๆ หัวเราะว่า "งั้นโชว์ให้ดูหน่อยซิ" (Ok please show me) ในตอนนั้นคิดว่าประโยคนี้น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้วล่ะ เจ้าของร้านที่ผมไปซื้อเป็นประจำคนนี้ยังหนุ่มอยู่เลยครับ มีหนวดเครา หน้าเนียนๆ ตัวท้วมนิดๆ ใส่เสื้อเชิ้ตสีสวยเชียว แกก็ยิ้ม ๆ เดินผ่านหน้าตู้ไอศกรีมเพื่อที่จะไปหยิบอะไรบางอย่างมาให้ผม ฝาตู้ไอศกรีมเจ้ากรรมดันไปจิกชายเสื้อสวย ๆ ของแกนี่ละ เสียงดังแควก!! ขาดเป็นรอยฟันปลาเลย ดูท่าแกเซ็งมาก แต่แกก็ยังเดินไปต่อเพื่อไปหยิบน้ำมาให้ผมอีกขวด แค่นั้นล่ะจึงได้เข้าใจ เขาพูดว่า "วัน-วอม-วัน-โคล-ด" (One warm one cold) คือ อันหนึ่งเอาเย็น ๆ กับอีกอันไม่เย็นนะ แหม ที่นี่บริการดีจริง ๆ แถมเสื้อขาดไปอีกหนึ่งตัว พอจ่ายตังค์ให้ดันจ่ายเกินอีก ตอนนั้นยังมองแบ็งค์ไม่ออก มันดึกแล้วด้วย และแบ๊งค์ 20 กับ 10 รูปีนี่ก็คล้าย ๆ กันอีก จะต้องดูที่ตัวเลข ผมดันจ่ายเกินไป 10 รูปี แกก็เรียกเรากลับมาและส่งตังค์คืนมาให้เรา เอ้อ...แบบนี้คบได้ น่ารัก เป็นลูกค้ากันอีกนานเลย เวลาจะโทรศัพท์กลับเมืองไทยก็จะมาโทรที่นี่ล่ะ สะดวกดี เห็นหน้ากันบ่อย ๆ พอจะกลับก็เลยขอถ่ายรูปด้วยกันบอกว่าจะเอาให้ลงหนังสือแกก็ชอบใจใหญ่

อินเดีย-12 : ทำไมแขกชอบทำคอยึกยัก

ทำไมแขกชอบทำคอยึกยัก

ถ้าได้พบปะพูดคุยกับแขก พวกเขาจะมีอากับกิริยาเหมือน ๆ กันคือ ชอบคำคอยึกยัก ผมพยายามหาคำที่ใกล้เคียงกับพฤติกรรมมาที่สุด คำว่า "ยึกยัก" กับ "ด็อกแด็ก" น่าจะใช้อธิบายได้ดีกว่า มันเป็นอย่างนี้ครับ... เวลาที่เขาตอบรับ, เข้าใจ หรือเวลาพอใจ เขาจะทำคอยึกยักใส่เรา ยกตัวอย่างเช่นตอนต่อราคาออโต้ ถ้าเขาโอเคกับเราว่าเอาราคานี้เขาก็จะยึกยักเพื่อตอบรับว่า "โอเคนะ" ดู ๆ ไปแล้วเราจะเข้าใจว่าเขาส่ายหน้า แต่มันไม่เหมือนส่ายหน้าเพราะส่ายหน้าจะต้องหันคอไปมาซ้ายขวา แต่นี่เป็นการโยกหัวไปซ้ายทีขวาที แต่อย่างไรก็ตาม มันจะขัด ๆ กับความรู้สึก แต่ถ้าอยู่ไปสักพัก ใครที่รับได้เก่ง ๆ ก็อาจจะติดพฤติกรรมนี้ไปเลยก็ได้ อย่างตอนที่ไปเที่ยวชมสังเวลานียสถาน ก็จะเจอเด็ก ๆ เยอะ แถวนั้น ผมก็เอาลูกอมยื่นไปให้ ถามว่ากินมั้ย เด็กก็ตอบกลับมาโดยทำคอยึกยักแบบนี้ล่ะ เลยเข้าไปใจไปว่าเขาไม่เอา.. เลยเอากลับเดินต่อเลย พอมารู้ที่หลังว่าการทำแบบนั้นก็คือการตอบรับว่า "ใช่" นั่นเอง หรืออย่างในกรณีที่เราไปซื้อของ พอยื่นตังค์ทอนกลับมาให้ เราก็ชวนคุยบอกว่าเนี่ย.. ก่อนกลับจะมาซื้ออีกนะ เขาก็ทำคอยึกยักและก็ยิ้ม กรณีนี้ล่ะครับที่เขาจะทำคอยึกยักกัน สำหรับการส่ายหน้าและการพยักหน้าของแขกนี่ก็มีนะครับ เช่น ถ้าไม่เอาก็ส่ายหน้า หรือถ้าพยักหน้าในเชิงรู้กันแบบนี้ก็มีให้เห็นบ่อยไป ดังนั้น เพิ่มการทำคอยึกยักเข้าไปด้วยอีกอย่างหนึ่ง เวลาคุยกับแขกนะครับ

อินเดีย-13 : เรียน English ที่นี่เป็นอย่างไร

เรียน English ที่นี่เป็นอย่างไร
"How about learning English in Bangalore"

เมื่อมาอยู่ที่นี่ การหาที่เรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนภาษาอังกฤษที่อินเดียนี้ก็เป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากเลยทีเดียว มีหลายสถาบันที่เปิดสอนในราคาที่ไม่แพง บางที่ก็ราคาถูกเดือนละไม่ถึงพันแต่อาจจะไม่มีมาตรฐาน สามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่มาลงโฆษณาครับ

โรงเรียนที่ผมไปเรียนนี้ก็คือ London School of Speech อยู่แถว ๆ ทะเลสาบ Ulsoor โรงเรียนนี้เปิดมานานหลายสิบปีแล้ว มีหลายสาขาด้วยกันในบังกาลอร์ ค่าเรียนที่นี่ถือว่าแพงกว่าหลาย ๆ ที่ในบังกาลอร์ด้วยกัน อันนี้เป็นมุมมองของคนอินเดียเองที่เขาบอกมา แต่มีคนมาเรียนเยอะ บ้างก็ไปที่อื่นแล้วก็กลับมาเรียนที่นี่เหมือนเดิมก็มี เพราะมีมาตรฐานมากกว่า อาจารย์ผู้สอนจะจบมาทางด้านภาษาโดยตรง สำเนียงดีเลยล่ะครับ

รูปแบบการเรียนที่นี่มีทั้งเรียนเป็นกลุ่ม (GP : Group class) และก็แบบเรียนเดี่ยว (ID : Individual class) เรียนกันสัปดาห์ละ 6 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ผู้เรียนที่จะเรียนเดี่ยวจะต้องมาตกลงเวลากับเจ้าหน้าที่ว่าอาจารย์ท่านใดว่างช่วงไหน ถ้าว่างตรงกันก็มาเรียนในช่วงนั้นได้ ที่นี่จะมีอาจารย์สอนแบบเดี่ยวหลายท่าน และมีห้องเรียนแบบกลุ่ม 1 ห้อง มีอาจารย์ประจำอยู่หนึ่งคน การนับเวลาเรียนจะนับเป็นคลาส เดือนหนึ่งจะเรียนได้ทั้งหมด 25 ครั้ง (หรือ 25 คลาส) ค่าเรียนแบบกลุ่มจะอยู่ที่เดือนละ Rs.750 เรียนวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เป็นการเรียนสนทนาและเรียนพวกศัพท์ต่าง ๆ สำหรับการเรียนเดี่ยว จะนับเป็นคลาสเหมือนกัน คลาสละหนึ่งชั่วโมง จะเรียนสองคลาสในวันเดียวกันก็ได้ไม่ว่ากัน อาจารย์ผู้สอนเขาไม่ว่าอยู่แล้ว ค่าเรียนก็จะแพงไปตามระเบียบขึ้นอยู่กับระดับที่เรียน ก็ประมาณ Rs. 1,750 แต่ตอนนี้ราคาอาจจะมีการปรับขึ้นนะครับ ตอนที่ผมมานี้ก็ปรับราคาขึ้นไปอีก 250 (แต่เงินเดือนผู้สอนยังเท่าเดิม) และก็ยืดเวลาการจบออกไป คือ จะต้องเรียนกลุ่มให้ได้ 50 คลาส และเรียนเดี่ยวให้ได้ 100 คลาส จึงจะได้ประกาศนียบัตรกลับบ้าน

นอกจากนี้แล้ว เรายังเลือกได้อีกว่าจะให้สอนเฉพาะด้าน เช่น ด้านการเขียนรายงาน (Report Writing), Business Communication หรือ TOEFL, IELTS หรือจะเจาะจงเรื่องไหนเป็นพิเศษก็คุยกับอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรงเลยก็ได้ อย่างบางคนก็เห็นเอาหนังสือ TOEFL ให้ทำกับอาจารย์ก็มี เรื่องการเรียนแบบตัวต่อตัวนี้จะมาเล่าให้ฟังอีกครับ คนไทยที่มาเรียนที่นี่ก็นับได้ว่าไม่มากนัก อย่างเดือน ๆ หนึ่งที่ผมนับได้ก็ประมาณสิบคน และต่างคนก็เรียนเดี่ยวคนละรอบ ดังนั้น จึงได้ผลค่อนข้างดีเลยทีเดียวอาจารย์ก็บอกมาว่าโดยมากคนไทยจะมีปัญหาในเรื่องของ Pronunciation คือลิ้นแข็ง ก็มาปรับที่นี่กันเยอะ หลาย ๆ คนก็มาเรียนภาษาอย่างเดียว บางคนเรียนที่เดลลี แต่ลงมาเรียนที่นี่ตอนปิดเทอมก็มี ผมได้คุยกับคนไทยบางคนที่มาเรียนที่นี่ ไม่ได้เรียนเดียวกันกับผมนะครับ เขาบอกว่าอยากได้การเขียนมากกว่า เพราะเราเรียน Grammar มาจากเมืองไทยพอสมควรแล้ว ที่ๆ เขาเรียนอยู่สอนแต่แกรมม่า ไม่มี Writing เลย ผมก็บอกว่าให้ลองมาคุยกับอาจารย์ที่นี่ดู เรียนเดี่ยวสัก 3 เดือน 6 เดือน ขอ Writing อย่างเดียวก็น่าจะให้ผลดีกว่า

การมาเรียนครั้งนี้ผมโชคดีที่ได้คลาสเรียนเดี่ยวกับ อ.สุชิลา อารูมูกัม (Shushila Arumugham) ต้องไปเรียนที่บ้านของแก เพราะปีนี้แกบอกทางโรงเรียนว่าขอพัก แต่โรงเรียนก็ส่ง นร. มาเรียนกับแกเรื่อย ๆ ดีหน่อยที่บ้านอาจารย์อยู่ใกล้กับโรงเรียน เดินไป 300 ม. ก็ถึงแล้ว อาจารย์ท่านเกิดที่มุมไบ แต่มาอยู่ที่นี่เนื่องมาจากค่าครองชีพที่มุมไบสูงขึ้น และแกก็อยากอยู่ในเมืองที่มีสภาพอากาศดี ๆ เพราะอายุมากแล้ว แต่หลัง ๆ แกบอกว่าบังกาลอร์นี่ก็เริ่มที่จะค่าครองชีพสูงขึ้นแล้วเหมือนกัน การจราจรเริ่มเหมือนกับมุมไบเข้าไปทุกวันแล้ว แต่ถึงแกจะอายุมาก แต่ก็พูดเจื้อยแจ้วเลยนะครับ เอาง่าย ๆ แกพูดทั้งชั่วโมงเลยก็ว่าได้ ช่วงแรก ๆ แกจะให้เราฝึกเขียนและพูด เพราะแกจะดูการใช้ภาษาและดูแกรมม่า พอได้สักพักแกก็ถามว่าอยากเจาะด้านไหน ผมก็บอกว่าอยากได้ด้านการเขียนมากกว่า ตั้งแต่วันนั้นมา แกจะทบทวน Grammar ให้ทุกวัน อะไรที่เราไม่แน่ใจในเวลาในงานจริง ๆ ก็จะเอาไปถามแก และทุกวัน แกก็จะให้การบ้านเป็น Essay มา เช่น TV & Reading, Pollution พอไปได้สักพักก็เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Do clothes make a man?, How to make a soup, An important day in my life, Pocket Money แกก็จะตรวจคำผิด เติม adject, adverb ให้ตามความเหมาะสม พอเริ่มหมดมุข แกก็จะให้เราพูดแทน เช่น เล่าเรื่องขำขันให้แกฟังวันละ 1 เรื่อง แค่นั่นล่ะ เราก็ต้องเดินหาหนังสือขำขันมือสอง หรือไม่ก็เอาตลกไทย ๆ ไปเล่าให้แกฟัง พอเล่าไม่ถูกก็เขียนลงสมุด แบบนี้ แบบนี้ แกจะช่วยเช็คคำผิดและการใช้ศัพท์ของเราให้ บ้างก็จะเรียนและถกปัญหาตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ปัญหาเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษของคนอินเดีย, ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ แกจะถามถึงเมืองไทยและก็เปรียบเทียบกับอินเดียให้ฟังนับว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว

และก็การที่ผมเขียน Essay นี่ล่ะครับ ดันไปเข้าหูอาจารย์ใหญ่ว่าผมเรียน Writing แกก็เลยบอกว่าผมเป็น Advanced Student ไม่ได้มาเรียนในระดับ Basic พอตอนทำเรื่องของใบประกาศ แกก็บอกให้ผมจ่ายเพิ่มย้อนหลัง 3 เดือนที่ผ่านมาก่อน ตอนนั้นเลยวุ่นวายกันยกใหญ่ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้เอามาครับ เพราะผมเอาเงินไปซื้อหนังสือกลับบ้านหมด และผมก็คิดว่าประกาศคงจะไม่สำคัญมากนัก ในประกาศจะบอกแค่ว่าเราได้มาเรียนที่นี่ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน แต่ไม่ได้บอกผลการเรียนอะไร และอีกอย่างหนึ่งก็คือคนอังกฤษ, อเมริกาหรือคนสิงค์โปร์ก็พูดภาษาอังกฤษกันได้ไม่เห็นต้องมีประกาศนียบัตรกันสักใบ ดังนั้น เลยไม่ได้จ่ายเพิ่มอะไร เรียนวันสุดท้ายเสร็จตอนเย็นก็บินกลับบ้านเลย แบบนี้ต้องบอกว่า ที่อินเดียนี่เอาแน่ไม่ได้ครับ อะไรที่เราว่าไม่น่าจะพลาด ยังพลาดแบบคาดไม่ถึงได้เลย ดังนั้น ชีวิตการเรียนที่นี่จึงเป็นชีวิตที่สนุกไปอีกแบบครับ หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังในบทต่อ ๆ ไปครับ

อินเดีย-14 : เรียนอังกฤษแบบกลุ่มเป็นอย่างไร

การเรียนแบบกลุ่ม (Group class) ที่โรงเรียนสอนภาษา London School of Speech ที่ผมไปเรียนนี้ เป็นการเรียนสนทนาครับ ท่านจะเจอกับเพื่อนใหม่จากหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดียเองก็มากันหลายคน และก็จากประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี, เยเมน, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, อเมริกาใต้ และก็คนไทย บางคนก็มาเรียนเดี่ยวด้วย และก็เรียนกลุ่มด้วยควบคู่กันไป โดยมากจะมีพื้นฐานการสื่อสารกันมาบ้างแล้ว และที่สำคัญก็คือไม่จำกัดอายุครับ แบบนี้ต้องพูดว่า "No one is too old to learn" ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งในอีกหลาย ๆ คนที่มาที่นี่ และผมก็มีความสุขมากด้วยเพราะไม่มีใครในห้องเรียกผมว่า "พี่" หรือ "น้า" สักคน ขนาดเจ้าปั๊ก เพื่อนตัวเล็ก ๆ จากเกาหลีอายุ 13 ปีเรียนในคลาสเดียวกันยังเรียกผมว่า "You" เลย รูปเจ้าปั๊ก สาขาที่ผมมาเรียนนี้เป็นสาขาใหญ่ อยู่ที่ทะเลสาบอัลซู (Ulsoor Lake) ผมได้เรียน Group class ตอน 9 โมง อาจารย์ที่สอนสาขานี้ก็คือ อ.รัชเชล อาโนลด์ (Russel Arnold) เฮียบมาก...ขอบอก เฮียบในที่นี้ก็คือ คุมชั้นเรียนอยู่หมัดเลย ใครเกะกะระรานแกก็ไล่ออกนอกห้องไปเลยนะครับ ไม่ง้อ ไม่ใช่ว่ารับเงินมาแล้วจะต้องง้อผู้เรียน ในคลาส ๆ หนึ่งจะผู้เรียนประมาณ 10-15 คน มาจากหลายประเทศ, หลายเชื้อชาติ, หลากหลายอุดมการณ์ เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง นิสัยชอบก่อกวนในชั้นเรียน ชอบขัดจังหวะการสนทนา อ.แกก็ไล่ออกนอกห้องหลายครั้ง และเจ้าคนนี้ล่ะครับตอนอาจารย์สอน ชอบมากระซิบถามคนเอเชียอย่างเราว่า "ชอบจอร์จดับเบิ้ลยูบุชมั้ย" ได้ยินอย่างงี้หันไปมองหน้ามันขวับเลย จะชวนผมเข้าขบวนการอะไรล่ะสิ เลยต้องทำคอยึกยักเหมือนกับว่า "เอ็งพูดอะไร ข้าไม่รู้เรื่อง" พอโดนอาจารย์รัซเซลไล่หลาย ๆ ครั้งแกหายไปเลยครับ ไม่มาเรียนอีกเลย

ในคลาสของ อ.รัซเชล แกทุ่มเทมากครับ แอ็คชั่นทั้งชั่วโมง แกจะไม่ให้เราปากว่างเลย แกจะให้พูดตลอด อย่างสอนคำว่า Ride อาจารย์ก็จะแสดงท่าทางให้ดู เพื่อให้บางคนที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องของคำศัพท์มาเข้าใจได้ง่ายขึ้น การเรียนในแต่ละวันเลยสนุกครื้นเครง อาจารย์แกเป็นคนอารมณ์ดีด้วย ทุกคนที่มาเรียนในคลาสจะโดนชี้ให้พูดหมด และแกก็เอ็นดู นร.ไทยมาก เอกลักษณ์ของความเป็นไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มแย้มแจ่มใส และการไปมาลาไหว้นี่ก็ช่วยให้เกิดความสนิทสนมมากขึ้น อ. เขาปฏิสัมพันธ์พวกเรานักเรียนไทยเป็นพิเศษ วัฒนธรรมอันดีนี้นำไปใช้ที่ต่างแดนได้อย่างไม่มีปัญหาเลยครับ

อ.แกยังบอกเลยว่าประเทศไทยเรานี่ล่ะที่ยกมือไหว้แล้วสวยเพราะเราไหว้แล้วก้มศีรษะด้วย ไม่ว่าเราอยู่เมืองไทยเราจะเป็นอะไร ตำแหน่งใด จบสูงแค่ไหน แต่เมื่อมาอยู่ในห้องเรียน เราก็คือ นร. คนหนึ่งที่พร้อมให้อาจารย์เข้มงวดกับเราได้ และความมีน้ำใจของคนไทยนี้ลือกระฉ่อนจริง ๆ ครับ เลดี้ที่ขายหนังสือคนหนึ่ง พอรู้ว่าผมมาจากเมืองไทยแกก็ถามเรื่องซึนามิ แกติดตามข่าวเรื่องซินามิจากทีวีแล้วก็เสียใจกับผู้ที่สูญเสียมาก (Tsunami Victims) และบอกว่าเมืองไทยนี่ดีจังที่ช่วยเหลือกันทั้งประเทศ เห็นแล้วปลื้มใจแทน แล้วแกก็ว่าอยากไปเมืองไทยสักครั้ง เห็นมั้ยครับ ชื่อเสียงของเมืองไทยในเรื่องน้ำใจและวัฒนธรรมที่ดีนี้ เวลาอยู่ไกลจากแผ่นดินแม่แล้วมีใครมาพูดถึงให้เราฟังอย่างนี้ก็รู้สึกมีความสุขมากเลย คนไทยทุกคนก็ควรภูมิใจในความเป็นไทยให้มาก ๆ นะครับ

มาถึงเนื้อหาที่เรียนกันบ้าง อย่างที่ว่าเอาไว้ครับ การเรียนแบบกลุ่มจะเป็นการสนทนา (Conversation) จะมีทั้งสนทนาตามหนังสือ คือ ดูการออกเสียง และก็ต่อด้วยการพูดตามหลักไวยากรณ์ แกจะค่อย ๆ ไล่ไปทีละนิด ๆ ครับ เริ่มตั้งแต่ Present Simple Tense ไปจนถึง Perfect Continuous ให้เรารู้วิธีการใช้ Pronoun, Proper noun, Voice ต่าง ๆ โดยจะไปช้า ๆ และให้แต่ละคนตั้งประโยคเอง ถาม-ตอบกับอาจารย์บ้าง ถาม-ตอบกับเพื่อนในห้องบ้าง ในบางวันแกก็จะหยิบใครสักคนขึ้นมานั่งหน้าห้องข้าง ๆ แก ให้คุยกับเพื่อนทั้งห้องเรื่องอะไรก็ได้ แรก ๆ ก็ถามคำถามง่าย ๆ กันครับ เช่น "Do you like Bangalore?" (ชอบบังกาลอร์มั้ย) "How long will you be here?" (อยู่นานเท่าไหร่) "What are your hobbies?" (งานอดิเรกคืออะไร) พอเรียนกันผ่านไปสักเดือน เริ่มพูดคล่องขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มถามคำถามพิเรน ๆ ประมาณว่า "ถ้าพรุ่งนี้โลกแตก วันนี้อยากทำอะไรมากที่สุด", "แต่งงานเมื่อไหร่", "ถ้าให้เลือกระหว่างเงินล้านกับสาวคนที่รักจะเลือกอะไร" คำถามอีแบบนี้ถ้าได้ยิงออกมาเมื่อไหร่ล่ะก็เรียกเสียฮาได้เมื่อนั้น ครั้งหนึ่ง เจ้าหนูปั๊กจากเกาหลีปล่อยก๊ากออกมาดังลั่นห้อง คนหันมามองกันทั้งโรงเรียนเลย เพราะว่าห้องเรียนกลุ่มกับห้องเรียนเดียวนั้นจะอยู่ติดกัน มีแค่กระจกใส ๆ กั้นแค่นั้นเอง อยากหัวเราะดัง ๆ ก็ต้องกลั้นเอาไว้ก่อนล่ะครับ

สไตล์การคุมชั้นเรียนของ อ.รัซเซลนี้พอเรียนไปสักพักก็จะรู้เลยครับว่าแกไม่ชอบการคุยแทรก และไม่ชอบถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง บางคนเดินเข้าเดินออกหรือมาสายทำให้รบกวนสมาธิเพื่อนร่วมชั้น แกก็ประกาศกฎอัยการศึกเลย ว่าถ้ามาช้า 15 นาทีจะล็อคห้อง ล็อคจริง ๆ ครับ ใครที่คุยกันบ่อย ๆ ในชั้นเรียน เตือนแล้วไม่ฟังแกก็ไล่ออกไปเลยทั้งคู่ โดยบอกว่า "Okay, your class is over. Good bye" เว้นเสียแต่ว่าจะทนนั่งจนจบคลาส อ.แกก็ไม่เรียกขึ้นมา taking conversation นะครับ คลาสนั้นก็เสียเงินไปฟรี ๆ เลย เห็นมั้ยครับใครว่าการเรียนที่อินเดียนั้นเรียนง่าย ๆ จบง่าย ๆ ที่นี่มีกฎระเบียบและมาตรฐานสูงพอสมควรเพื่อให้การเรียนมีคุณภาพ

พูดถึงวันหนึ่ง ๆ ของการเรียนกลุ่มนี้จะมีเรื่องให้เล่าเยอะ สาวน้อยจากเยเมนนี่ก็เถียงเก่งจริง ๆ คือ ไม่ยอมจดคำศัพท์ลงสมุด อ.ก็ถามอย่างว่า "Why don't you write the words into your notebook?" สาวน้อยก็ตอบว่า "Because I'm tired" คือ "เหนื่อย" แกก็สวนเลยว่า "Why don't you sleep at home, why do you come to class?" คือ "เหนื่อยแล้วทำไมไม่อยู่บ้าน มาเรียนทำไม" สาวน้อยจากเยเมนไม่รู้ว่าโกรธใครมาแต่ไหน ตะโกนลั่นห้องเลย "อยากมาฟังนี่" เถียงกับแกหลายประโยค แกเปิดสมุดเช็คชื่อกาเครื่องหมาย absent ให้ไปเลย คือ ชั่วโมงนี้ไม่นับให้แล้วทั้งคาบแกชี้ให้พูดหมดทุกคนยกเว้นสาวน้อยคนนี้เพราะ "She's tired"

นอกจากการสนทนากันตาม tense แล้ว ก็ยังสอนคำศัพท์, Idioms และพวก Proverb, phobia วันละ 10 คำ พอเรียนจบหนึ่งอาทิตย์ก็จะรู้ศัพท์แปลก ๆ ไปกว่า 50 คำ ทุกวันเสาร์แกจะทำการ recap หรือไล่ทวนเนื้อหาที่สอนไป โดยจะหาเหยื่อมานั่งเก้าอี้ตรงข้ามกับแก และก็จะสนทนากันโดยใช้สิ่งที่เรียนไปทั้งอาทิตย์หรือไม่ก็สนทนาแบบ General Questions ถ้าแกเห็นนักเรียนคิดคำถามไม่ได้ แกจะช่วยตั้งคำถามให้ ถ้าคนไหนแกเห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาดีขึ้นแกจะเข็นส่งให้เลย แกจะเรียกให้พูดบ่อย ๆ คนที่ไปได้ช้าอย่างเจ้าหนูปั๊กเทฮองนี่แกก็จะให้นั่งฟังและถาม-ตอบ หนึ่งอาทิตย์แกจะก็จะเรียกขึ้นมาสัมภาษณ์เพื่อดูความก้าวหน้า จริง ๆ แล้วไม่ใช่อะไรหรอกครับ เจ้าหนูปั๊กแกชอบนั่งวาดรูปเล่นในชั่วโมง บ้างก็ชวนคนอื่นเล่น จนอาจารย์ต้องตั้งฉายาว่า "Jack in the box"

ถ้าท่านเรียนกลุ่มมาสัก 1-2 เดือน ถ้าตั้งใจเรียนทุกวัน ไม่ขาดเรียน และไม่หาโอกาสพูดภาษาไทยกับใครเลย การคิดจะเริ่มเป็นอัตโนมัติขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปลมาเป็นอังกฤษ ถ้ามาถึงโรงเรียนเร็ว ๆ ก็หาโอกาสสนทนากับเพื่อน ๆ ได้ ผู้ที่มาเรียนโดยมากจะอยากพูดอยู่แล้ว ในการเรียนแบบกลุ่มไม่ใช่ว่าเป็นการฝึกพูดอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกการฟังด้วย เพราะในขณะที่อาจารย์กำลังถามตอบกับเพื่อนคนอื่นอยู่ ยังไม่ถึงคิวของเรา เราก็อาศัยโอกาสนี้ฝึกการฟังไปด้วยหรือพูดตามอาจารย์ อันนี้ก็จะช่วยพัฒนาทักษะการพูดและการฟังได้ดีมากยิ่งขึ้น และก็ได้พบเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่มาเรียนที่ London School นี้พอคุยด้วยแล้วก็พบว่าบางคนเรียน Speaking ที่เมืองไทยมาก่อน เสียเงินไปแล้วก็หลายหมื่น บอกว่าเรียนพูดอังกฤษ 2 ชม. พอกลับมาบ้านพูดแต่ภาษาไทย 22 ชม. เลยไม่ได้อะไรเท่าไหร่ เพราะไม่มีโอกาสพูด เลยต้องมาอยู่ที่นี่ช่วงปิดเทอม เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพงและได้พูดภาษาอังกฤษทุกวันอีกด้วย

การเรียนในคลาสที่มีคนต่างชาติ นอกจากท่านจะได้ฝึกสนทนาอย่างไม่อายแล้ว ท่านก็จะได้พบเห็นหลายหลากวัฒนธรรม หลายหลากความคิด หลายทัศนคติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา, วัฒนธรรม, การเมือง, งานอดิเรก, ดารา หรือกีฬาที่ชอบ ฯลฯ การมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติในการไปไหนมาไหนด้วยกัน เช่น กินข้าว, เดินกลับบ้าน หรือไปดูหนัง มันจะช่วยให้ท่านพัฒนาการพูดได้ดีขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะการถกประเด็นปัญหาด้วยแล้ว คนแขกนี่ถ้าเขาเชื่ออะไร เขาจะเถียงแบบสุด ๆ เราคนไทยจะเถียงไม่ค่อยทันเท่าไหร่ แบบนี้จะได้ผลดีมากครับ เพราะสถานการณ์มันบังคับให้ท่านต้องพูดและต้องฟังให้รู้เรื่อง และจะได้คำศัพท์ในการพูดเยอะมาก และถ้าท่านไปเรียนภาษาแบบไปกันหลาย ๆ คน ถ้าจะให้ดีล่ะก็ควรจะพักแยกกัน, เรียนแยกกัน ซึ่งจะให้ผลดีกว่านั่งเรียนเก้าอี้ติดกัน เพราะถ้าเราจับกลุ่มคนไทยไปนั่งเรียนในคลาสเดียวกันหลาย ๆ คนอาจจะได้ผลไม่ดีเท่ากับการกระจายไปเรียนรวมกับชาวต่างชาติ เพราะถ้าเราหันไปมองซ้ายขวา ก็จะเจอแต่คนไทย บรรยากาศก็คงไม่ต่างอะไรไปจากการเรียนในประเทศเราเอง คือ มันไม่มีอะไรบังคับให้ท่านพูดภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านจะขอยืมสมุดเพื่อน (คนไทย) ไปจด ท่านจะพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยล่ะ... ถ้าต้องการฝึกภาษาก็จะต้องพยายามหักห้ามใจพูดกับเพื่อนคนไทยโดยใช้ภาษาอังกฤษ แต่จะมีเรื่องให้สนทนากันกี่เรื่อง และจะอดใจไม่พูดภาษาไทยได้หรือเวลาไม่เข้าใจกัน? อันนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่อยากให้เสียโอกาสดี ๆ ในการเก็บประสบการณ์จากต่างแดน อย่างนักเรียนบางคนไปอยู่โรงเรียนประจำ ไปขอนมจากโรงอาหาร พูดคำว่า Milk เป็น "มิ้ว" แม่ครัวเขาก็ไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งต้องมีคนมาสอนเรื่องของการออกเสียงให้เป็น "มิล-เขอะ" คือเติมเสียงตัว k เล็ก ๆ เข้าไปด้วย หรืออย่างจะไปซื้อเกลือ ไปบอกคนขายว่าจะเอา "ซอล" (Salt) เขาไม่รู้นะ ต้องบอกว่า "ซอลท" เติมเสียงตัว t ไปด้วย นั่นล่ะถึงจะซื้อกินกันได้ นี่ไงครับ "โอกาส" ถ้าเราไม่หาโอกาสในการสนทนา เราจะไม่รู้เลยว่าเราออกเสียงผิดหรือถูก ท่านว่าจริงมั้ยครับ.. หรืออย่างเพื่อนคนไทย ที่เรียนด้วยกัน จะขออนุญาตเปิดพัดลมเพดาน เพราะว่ามันร้อน ก็หลุดคำไทยออกไปเต็มๆ เลยว่า "May I open the fan" คือ "ขอเปิดดู (แกะ) พัดลมได้มั้ย" อ.แกก็เลยบอกคำที่ถูกว่าต้องใช้ "switch on" หรือ "turn on" นั่นล่ะ จึงจะได้รู้กัน ถ้าให้พูดเรื่องโรงเรียนสอนภาษานี่ พูดไม่หมดครับ แต่ก็บอกได้ว่าที่นี่ให้ประสบการณ์และความมันส์เยอะเลยทีเดียว ถ้าใครจะพาลูกหลานมาเก็บประสบการณ์ที่นี่ก็คงจะดีไม่น้อย หรือจะแบกเป้มาลุยแบบเดี่ยวๆ แบบผม มาหาเพื่อนเอาแถว ๆ นี้ก็จะมันส์ไปอีกแบบครับ