วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย-02 : สุด ๆ เลย กว่าจะมาถึงบังกาลอร์ (ขั้นเตรียมข้อมูล, ทำไมต้องเลือกมาที่นี่)

สุด ๆ เลย กว่าจะมาถึงบังกาลอร์ (ขั้นเตรียมข้อมูล, ทำไมต้องเลือกมาที่นี่)

Why Bangalore?

เมือง ๆ หนึ่งที่ผมใฝ่ฝันเอาว่าว่าสักวันจะต้องไปเหยียบหรือไปอยู่แถว ๆ นั้นสักครั้งก็คือ เมืองบังกาลอร์ (Bangalore) เมือง ๆ นี้เป็นเมืองที่นับได้ว่าเจริญในด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และในอีกหลาย ๆ ด้านของอินเดีย และค่าครองชีพก็สูงเป็นอันดับต้น ๆ เหมือนกันกับมุมไบ (Mumbai) (ชื่อเดิมก็คือ บอมเบย์ (Bombay)) เมือง ๆ นี้เรารู้จักกันในสมญานามว่าเป็น "ซิลิกอนวัลเลย์" (Silicon Valley) หรือเมืองแห่งนักโปรแกรมเมอร์ จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช้แค่บังกาลอร์หรอกครับ มีอีกหลาย ๆ เมืองในอินเดียนี้ก็เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหมือนกัน เช่น เชนไน (Chenai) เป็นต้น แต่ที่โดดเด่นและสื่อมักจะประโคมก็เห็นจะเป็นเมืองบังกาลอร์นี้ล่ะครับ แต่จากการที่ได้พูดคุยกับหลาย ๆ คนในอินเดียแล้วก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บังกาลอร์นี้ล่ะน่าอยู่ที่สุด ทั้งสภาพอากาศ ผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษกันทุกวัน ฯลฯ ดังนั้น ประชากรในเมืองนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปี ๆ หนึ่งมีชาวต่างชาติ และจากรัฐอื่น ๆ ของอินเดียเข้ามาหาที่เรียนและที่ทำงานกันมากมาย เมืองนี้นับได้ว่าเป็นเมืองที่เหมาะแก่การแสวงหาความรู้อย่างมากครับ

ด้วยการที่ตัวผู้เขียนเองทำงานในสายของนักเขียนโปรแกรมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ด้านโปรแกรมเมอร์โดยตรงปัจจุบันผู้เขียนทำการสอนด้านคอมพิวเตอร์ วิชาที่สอนในเทอม ๆ หนึ่ง ก็จะเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมเป็นหลัก โดยสายงานและใจรักแล้ว ผู้เขียนก็อ่านตำรับตำราและก็เขียนโปรแกรมมันทั้งวันล่ะครับ และก็เกิดความสงสัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้ยินใคร ๆ พูดถึงโปรแกรมเมอร์จะต้องนึกถึงแต่อินเดีย คำว่า "อินเดีย" เริ่มได้ยินบ่อยขึ้น ๆ ตั้งแต่ปี 2541 ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะว่าประเทศนี้มีอะไรน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เวลาผ่านไปแต่ละวันผมเริ่มสนใจประเทศนี้มากขึ้น ทำให้ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียที่มีอยู่ในเมืองไทยอย่างพลิกแผ่นดินเลยว่าได้ ที่ไหนมีเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับอินเดีย, เมืองเดลลี, บังกาลอร์, เชนไน, มุมไบ ฯลฯ หาจากตำรา, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วารสารที่พูดถึงอินเดีย, ภาพยนตร์ หรือแม้แต่เข้าร้านหนังสือธรรมสภา เพื่อหาข้อมูลประเทศนี้จากหนังสือสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า, หรือแม้กระทั่งเดินเที่ยวแถว ๆ พาหุรัดเพื่อเก็บข้อมูลก็เพราะว่าอยากรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ให้มากขึ้น

ปลายปี 43 เป็นปีที่โชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสไปเหยียบแผ่นดินนี้เป็นครั้งแรก คือ ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ของพระพุทธเจ้า (Buddhist Circle) ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดาที่เราได้ปฏิบัติตามคำสอนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้มาถึงที่จริงก็ครั้งนี้เอง ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายเที่ยวถามไกด์ที่พาราณาสีว่าถ้าจะไปอินเดียตอนใต้ จะไปยังไง ก็นั่นล่ะครับ เมืองที่ผมอยากไปอยู่ที่นั่น "บังกาลอร์" ช่วงนั้นสายการบินของการบินไทยยังไม่เปิดเที่ยวบินไปบังกาลอร์ มีแต่สายการบินอื่น ๆ ถ้าผมจะมาก็บินมาลงมุมไบ ที่นี่เรียกว่าเป็นเมืองดารา หรือบอลลี่วู้ด (Bollywood) ซึ่งเราจะไปคุยกันในช่วงหลัง ๆ และเมื่อถึงมุมไบก็จับรถไฟลงใต้ นี่ก็คือแผนการเดินทางที่ลองวางเอาไว้ ตั้งใจว่าสักปี 47 นี้จะมาให้ได้เลย แต่แล้วก็ไม่ได้มาซักที ติดโน่นติดนี่ตลอด ถ้าพูดแบบไม่เข้าข้างตัวเองก็คือ เราไม่ยอมหาโอกาสให้กับตัวเองมากกว่า และอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีใครมากับผมแน่นอนอีแบบนี้

แต่สุดท้ายเอาเข้าจริงๆ ก็ติดครับ ไม่สามารถไปได้แน่นอน เพราะหลังจากกลับจากอินเดียตุลาคม 43 นั้นก็เรียนคอร์สเวิร์คจบพอดี และจะต้องทำวิทยานิพนธ์ต่อ หัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโทก็ยังไม่ได้ ยังอุตส่าห์คิดถึงการเรียนต่อปริญญาเอก อย่างนี้เราหวังได้ครับ แต่หวังแล้วจะต้องไปให้ถึง ไม่ใช่ว่าหวังแล้วก็ติดอยู่ที่ความหวัง ไม่ยอมเริ่มทำหรือเริ่มหาหัวข้อสักทีแบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ท่านผู้อ่านลองทายสิครับ ผมตั้งใจจะไปเอาปริญญาเอกจากประเทศไหน... แน่นอน ผมตั้งใจไปเอาปริญญาจากอินเดีย ไปเอาจากมหาวิทยาลัยแถว ๆ เชนไนหรือบังกาลอร์นี่ล่ะ ผมเข้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอินเดีย หาข้อมูลการเรียนต่อสำหรับ Foreign Student , ค่าธรรมเนียมและค่าลงทะเบียนต่าง ๆ หาจาก Google ที่เรารู้จักกันนี่ล่ะครับ ผมเปรียบเทียบทั้งการเรียนแบบ Correspondences และแบบ Full-time หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่สนใจจะทำก็มีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา (Education), ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering), และด้านมัลติมิเดีย (Multimedia Processing) ไม่มีใครทัดทานผมเลยว่าให้ผมไปเอาปริญญาเอกจากที่อื่น ผมรู้อยู่แก่ว่าใจ ประเทศนี้มีเสน่ห์อะไรบางอย่างให้ผมต้องไป และถ้าเรียนสบาย ๆ นั่งกินนอนกินได้คงจะไม่สนุกเท่าไหร่ กลับมาเมืองไทยคงจะมีเรื่องเล่าน้อยกว่าอินเดียแน่ ที่อินเดียมีระบบการศึกษาที่ไม่เป็นรองใคร เพราะอังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานเอาไว้ มหาวิทยาลัย (University) และวิทยาลัย (College) หลายพันแห่งในอินเดีย สามารถผลิตนักปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดได้ ด้วยความที่ระบบการเรียนการสอนของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตำหรับตำราก็ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น คนที่จบมาจึงมีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ, อ่านหนังสือ, คู่มือต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา คนที่จบมาที่มีสำเนียงดี ๆ ระดับหัวกะทิก็มีโอกาสทำงานได้เงินเดือนมากกว่า คนที่มีศักยภาพพอก็ออกไปทำงานนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดูไบ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมันและอีกหลาย ๆ ประเทศ ดู ๆ ก็เหมือนกับว่าสมองไหลออกนอกประเทศ รัฐบาลเขาก็พูดถึงปัญหานี้อยู่เหมือนกัน และจุดนี้ก็ทำให้เราคิดถึงประเทศไทยมาตะหงิด ๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแรกก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษ อันนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่ประถม, ถึงมัธยมและปริญญาตรี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเหมือนกับคนอินเดีย ดังนั้น แน่นอน.. ทักษะการพูดกับการฟังของคนไทยจึงไม่เท่ากับบางประเทศที่เขาใช้กันอยู่ทุกวัน

ที่อินเดียมีระบบการศึกษาที่ไม่เป็นรองใคร เพราะอังกฤษได้เข้ามาวางรากฐานเอาไว้ มหาวิทยาลัย (University) และวิทยาลัย (College) หลายพันแห่งในอินเดีย สามารถผลิตนักปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดได้ ด้วยความที่ระบบการเรียนการสอนของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตำหรับตำราก็ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น คนที่จบมาจึงมีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ, อ่านหนังสือ, คู่มือต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา คนที่จบมาที่มีสำเนียงดี ๆ ระดับหัวกะทิก็มีโอกาสทำงานได้เงินเดือนมากกว่า คนที่มีศักยภาพพอก็ออกไปทำงานนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดูไบ, อังกฤษ, อเมริกา, เยอรมันและอีกหลาย ๆ ประเทศ ดู ๆ ก็เหมือนกับว่าสมองไหลออกนอกประเทศ รัฐบาลเขาก็พูดถึงปัญหานี้อยู่เหมือนกัน และจุดนี้ก็ทำให้เราคิดถึงประเทศไทยมาตะหงิด ๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างแรกก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษ อันนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่ประถม, ถึงมัธยมและปริญญาตรี แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเหมือนกับคนอินเดีย ดังนั้น แน่นอน.. ทักษะการพูดกับการฟังของคนไทยจึงไม่เท่ากับบางประเทศที่เขาใช้กันอยู่ทุกวัน



มาต่อเรื่องมหาวิทยาลัยกันอีกนิด ด้วยความที่ผมสนใจในประเทศนี้ ผมไม่ลังเลใจเลยว่าจะไปเอาปริญญาจากที่ประเทศอื่น ท่านอาจารย์สุพจน์ นิตย์สุวัฒน์ และอาจารย์พารา ลิมมะณีประเสริญ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้งสองท่านที่ดูแลผมตอนปริญญาโทก็สนับสนุนและให้ความมั่นใจกับผมมาก และผมก็เชื่อว่าการไปเรียนต่อต่างประเทศ ถ้าไม่ลำบาก ไม่ได้ผจญภัย มันคงจะไม่สนุก ไม่มีเรื่องมาเขียนเป็นหนังสือได้ แต่ทำไมเมื่อมีใครพูดถึงอินเดีย ก็มักจะมองว่าเป็นอีกโลกหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยไปสัมผัสมาด้วยตัวเองด้วยซ้ำ บ้างก็บอกว่าบ้านเมืองไม่น่าอยู่ คนแขกอย่างโน้นอย่างนี้ พาดพิงไปถึงหนังแขกที่เต้นรอบภูเขา อย่าลืมนะครับว่ามหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกก็อยู่ที่นี่ นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยนาลันทา สรรพความรู้ต่าง ๆ ในหลาย ๆ แขนงไม่ว่าจะเป็นศาสนา, วรรณกรรม, แหล่งกำเนิดของภาษาและวัฒนธรรมก็อยู่ที่นี่ ผมเชื่อว่าถ้าท่านได้สัมผัส และได้รับรู้ในมุมมองที่ผมกำลังถ่ายทอดในบทต่อ ๆ ไป ท่านจะรู้สึกถึงความเรียบง่ายและความเป็นอยู่ของเขา แม้จะเป็นเมืองที่เราเข้าใจว่าเจริญในระดับต้น ๆ ของอินเดีย ที่นี่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนอย่างบ้านเรา เพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และด้วยความที่คนอินเดียมีนิสัยประหยัด, อดทน, หาเงินกันเก่ง แต่พวกเขาก็ยังอยู่กันได้อย่างเรียบง่าย ถ้าท่านยังคิดอยู่ว่าอินเดียเป็นประเทศที่ไม่เจริญ เป็นอีกโลกหนึ่งล่ะก็ ลองหาเหตุผลสิครับว่าทำไมปัจจุบันคนไทยถึงเริ่มนิยมหันไปเรียนเอาปริญญาจากอินเดียล่ะ ไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพง ถ้าท่านอยากรู้ ลองถามผู้ที่เรียนจบจากอินเดียมาสิครับ หรือลองอ่านเรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังในบทต่อ ๆ ไป, ทำไมเราต้องเอาอินเดียมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์, ทำไมบริษัทคอมพิวเตอร์หรือสำนักพิมพ์ระดับโลกจึงมาตีพิมพ์หนังสือที่อินเดีย, ทำไมไมโครซอฟต์จึงต้องการตัวนักโปรแกรมเมอร์อินเดียไปทำงาน เพราะเขาเขียนโปรแกรมเก่งหรือค่าจ้างถูกกว่า หรือทั้งสองอย่าง? สภาพแวดล้อมและความกดดันหลาย ๆ อย่างของประเทศเรากับเขานั้นต่างกัน เรามีวิธีที่จะหยิบเอาจุดเด่นและความแตกต่างของประเทศอินเดียมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศเราได้มั้ย ถ้าไม่ได้จะปรับอย่างไร ถ้าได้เราจะเริ่มต้นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ประเทศอินเดียในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหานะครับ ถึงแม้เขาจะมีภาษาอังกฤษ, มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาตั้งในประเทศ แต่ก็ยังมีปัญหา และก็เป็นปัญหาในอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านประชากร, ปัญหาด้านภาษา, การว่างงาน, มลภาวะ, ช่องว่างของคนรวยและคนจน, ปัญหาเรื่องการเรียนสายอาชีพ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลเขาก็กำลังหาทางแก้ไขกันอยู่

ที่กล่าวมาทั้งนี่ก็คือที่มาของการเดินทาง 90 วันบังกาลอร์ อีกมุมหนึ่งของดินแดนแห่งนี้ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวสถานที่สำคัญ แต่เป็นการท่องเที่ยวทรัพยากรความรู้ของเขา "อินเดีย" ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งความรู้ที่ยิ่งใหญ่ อารยธรรมมีมากกว่า 4000 ปี หลาย ๆ คนที่กลับจากอินเดียได้ประสบการณ์และความรู้มามากมาย เพื่อมาตอบแทนบุญคุณของประเทศ แล้วท่านล่ะ ไม่อยากได้คำตอบอะไรจากประเทศนี้บ้างหรือ?