วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย-14 : เรียนอังกฤษแบบกลุ่มเป็นอย่างไร

การเรียนแบบกลุ่ม (Group class) ที่โรงเรียนสอนภาษา London School of Speech ที่ผมไปเรียนนี้ เป็นการเรียนสนทนาครับ ท่านจะเจอกับเพื่อนใหม่จากหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดียเองก็มากันหลายคน และก็จากประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี, เยเมน, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, อเมริกาใต้ และก็คนไทย บางคนก็มาเรียนเดี่ยวด้วย และก็เรียนกลุ่มด้วยควบคู่กันไป โดยมากจะมีพื้นฐานการสื่อสารกันมาบ้างแล้ว และที่สำคัญก็คือไม่จำกัดอายุครับ แบบนี้ต้องพูดว่า "No one is too old to learn" ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งในอีกหลาย ๆ คนที่มาที่นี่ และผมก็มีความสุขมากด้วยเพราะไม่มีใครในห้องเรียกผมว่า "พี่" หรือ "น้า" สักคน ขนาดเจ้าปั๊ก เพื่อนตัวเล็ก ๆ จากเกาหลีอายุ 13 ปีเรียนในคลาสเดียวกันยังเรียกผมว่า "You" เลย รูปเจ้าปั๊ก สาขาที่ผมมาเรียนนี้เป็นสาขาใหญ่ อยู่ที่ทะเลสาบอัลซู (Ulsoor Lake) ผมได้เรียน Group class ตอน 9 โมง อาจารย์ที่สอนสาขานี้ก็คือ อ.รัชเชล อาโนลด์ (Russel Arnold) เฮียบมาก...ขอบอก เฮียบในที่นี้ก็คือ คุมชั้นเรียนอยู่หมัดเลย ใครเกะกะระรานแกก็ไล่ออกนอกห้องไปเลยนะครับ ไม่ง้อ ไม่ใช่ว่ารับเงินมาแล้วจะต้องง้อผู้เรียน ในคลาส ๆ หนึ่งจะผู้เรียนประมาณ 10-15 คน มาจากหลายประเทศ, หลายเชื้อชาติ, หลากหลายอุดมการณ์ เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง นิสัยชอบก่อกวนในชั้นเรียน ชอบขัดจังหวะการสนทนา อ.แกก็ไล่ออกนอกห้องหลายครั้ง และเจ้าคนนี้ล่ะครับตอนอาจารย์สอน ชอบมากระซิบถามคนเอเชียอย่างเราว่า "ชอบจอร์จดับเบิ้ลยูบุชมั้ย" ได้ยินอย่างงี้หันไปมองหน้ามันขวับเลย จะชวนผมเข้าขบวนการอะไรล่ะสิ เลยต้องทำคอยึกยักเหมือนกับว่า "เอ็งพูดอะไร ข้าไม่รู้เรื่อง" พอโดนอาจารย์รัซเซลไล่หลาย ๆ ครั้งแกหายไปเลยครับ ไม่มาเรียนอีกเลย

ในคลาสของ อ.รัซเชล แกทุ่มเทมากครับ แอ็คชั่นทั้งชั่วโมง แกจะไม่ให้เราปากว่างเลย แกจะให้พูดตลอด อย่างสอนคำว่า Ride อาจารย์ก็จะแสดงท่าทางให้ดู เพื่อให้บางคนที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องของคำศัพท์มาเข้าใจได้ง่ายขึ้น การเรียนในแต่ละวันเลยสนุกครื้นเครง อาจารย์แกเป็นคนอารมณ์ดีด้วย ทุกคนที่มาเรียนในคลาสจะโดนชี้ให้พูดหมด และแกก็เอ็นดู นร.ไทยมาก เอกลักษณ์ของความเป็นไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มแย้มแจ่มใส และการไปมาลาไหว้นี่ก็ช่วยให้เกิดความสนิทสนมมากขึ้น อ. เขาปฏิสัมพันธ์พวกเรานักเรียนไทยเป็นพิเศษ วัฒนธรรมอันดีนี้นำไปใช้ที่ต่างแดนได้อย่างไม่มีปัญหาเลยครับ

อ.แกยังบอกเลยว่าประเทศไทยเรานี่ล่ะที่ยกมือไหว้แล้วสวยเพราะเราไหว้แล้วก้มศีรษะด้วย ไม่ว่าเราอยู่เมืองไทยเราจะเป็นอะไร ตำแหน่งใด จบสูงแค่ไหน แต่เมื่อมาอยู่ในห้องเรียน เราก็คือ นร. คนหนึ่งที่พร้อมให้อาจารย์เข้มงวดกับเราได้ และความมีน้ำใจของคนไทยนี้ลือกระฉ่อนจริง ๆ ครับ เลดี้ที่ขายหนังสือคนหนึ่ง พอรู้ว่าผมมาจากเมืองไทยแกก็ถามเรื่องซึนามิ แกติดตามข่าวเรื่องซินามิจากทีวีแล้วก็เสียใจกับผู้ที่สูญเสียมาก (Tsunami Victims) และบอกว่าเมืองไทยนี่ดีจังที่ช่วยเหลือกันทั้งประเทศ เห็นแล้วปลื้มใจแทน แล้วแกก็ว่าอยากไปเมืองไทยสักครั้ง เห็นมั้ยครับ ชื่อเสียงของเมืองไทยในเรื่องน้ำใจและวัฒนธรรมที่ดีนี้ เวลาอยู่ไกลจากแผ่นดินแม่แล้วมีใครมาพูดถึงให้เราฟังอย่างนี้ก็รู้สึกมีความสุขมากเลย คนไทยทุกคนก็ควรภูมิใจในความเป็นไทยให้มาก ๆ นะครับ

มาถึงเนื้อหาที่เรียนกันบ้าง อย่างที่ว่าเอาไว้ครับ การเรียนแบบกลุ่มจะเป็นการสนทนา (Conversation) จะมีทั้งสนทนาตามหนังสือ คือ ดูการออกเสียง และก็ต่อด้วยการพูดตามหลักไวยากรณ์ แกจะค่อย ๆ ไล่ไปทีละนิด ๆ ครับ เริ่มตั้งแต่ Present Simple Tense ไปจนถึง Perfect Continuous ให้เรารู้วิธีการใช้ Pronoun, Proper noun, Voice ต่าง ๆ โดยจะไปช้า ๆ และให้แต่ละคนตั้งประโยคเอง ถาม-ตอบกับอาจารย์บ้าง ถาม-ตอบกับเพื่อนในห้องบ้าง ในบางวันแกก็จะหยิบใครสักคนขึ้นมานั่งหน้าห้องข้าง ๆ แก ให้คุยกับเพื่อนทั้งห้องเรื่องอะไรก็ได้ แรก ๆ ก็ถามคำถามง่าย ๆ กันครับ เช่น "Do you like Bangalore?" (ชอบบังกาลอร์มั้ย) "How long will you be here?" (อยู่นานเท่าไหร่) "What are your hobbies?" (งานอดิเรกคืออะไร) พอเรียนกันผ่านไปสักเดือน เริ่มพูดคล่องขึ้นเรื่อย ๆ ก็เริ่มถามคำถามพิเรน ๆ ประมาณว่า "ถ้าพรุ่งนี้โลกแตก วันนี้อยากทำอะไรมากที่สุด", "แต่งงานเมื่อไหร่", "ถ้าให้เลือกระหว่างเงินล้านกับสาวคนที่รักจะเลือกอะไร" คำถามอีแบบนี้ถ้าได้ยิงออกมาเมื่อไหร่ล่ะก็เรียกเสียฮาได้เมื่อนั้น ครั้งหนึ่ง เจ้าหนูปั๊กจากเกาหลีปล่อยก๊ากออกมาดังลั่นห้อง คนหันมามองกันทั้งโรงเรียนเลย เพราะว่าห้องเรียนกลุ่มกับห้องเรียนเดียวนั้นจะอยู่ติดกัน มีแค่กระจกใส ๆ กั้นแค่นั้นเอง อยากหัวเราะดัง ๆ ก็ต้องกลั้นเอาไว้ก่อนล่ะครับ

สไตล์การคุมชั้นเรียนของ อ.รัซเซลนี้พอเรียนไปสักพักก็จะรู้เลยครับว่าแกไม่ชอบการคุยแทรก และไม่ชอบถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง บางคนเดินเข้าเดินออกหรือมาสายทำให้รบกวนสมาธิเพื่อนร่วมชั้น แกก็ประกาศกฎอัยการศึกเลย ว่าถ้ามาช้า 15 นาทีจะล็อคห้อง ล็อคจริง ๆ ครับ ใครที่คุยกันบ่อย ๆ ในชั้นเรียน เตือนแล้วไม่ฟังแกก็ไล่ออกไปเลยทั้งคู่ โดยบอกว่า "Okay, your class is over. Good bye" เว้นเสียแต่ว่าจะทนนั่งจนจบคลาส อ.แกก็ไม่เรียกขึ้นมา taking conversation นะครับ คลาสนั้นก็เสียเงินไปฟรี ๆ เลย เห็นมั้ยครับใครว่าการเรียนที่อินเดียนั้นเรียนง่าย ๆ จบง่าย ๆ ที่นี่มีกฎระเบียบและมาตรฐานสูงพอสมควรเพื่อให้การเรียนมีคุณภาพ

พูดถึงวันหนึ่ง ๆ ของการเรียนกลุ่มนี้จะมีเรื่องให้เล่าเยอะ สาวน้อยจากเยเมนนี่ก็เถียงเก่งจริง ๆ คือ ไม่ยอมจดคำศัพท์ลงสมุด อ.ก็ถามอย่างว่า "Why don't you write the words into your notebook?" สาวน้อยก็ตอบว่า "Because I'm tired" คือ "เหนื่อย" แกก็สวนเลยว่า "Why don't you sleep at home, why do you come to class?" คือ "เหนื่อยแล้วทำไมไม่อยู่บ้าน มาเรียนทำไม" สาวน้อยจากเยเมนไม่รู้ว่าโกรธใครมาแต่ไหน ตะโกนลั่นห้องเลย "อยากมาฟังนี่" เถียงกับแกหลายประโยค แกเปิดสมุดเช็คชื่อกาเครื่องหมาย absent ให้ไปเลย คือ ชั่วโมงนี้ไม่นับให้แล้วทั้งคาบแกชี้ให้พูดหมดทุกคนยกเว้นสาวน้อยคนนี้เพราะ "She's tired"

นอกจากการสนทนากันตาม tense แล้ว ก็ยังสอนคำศัพท์, Idioms และพวก Proverb, phobia วันละ 10 คำ พอเรียนจบหนึ่งอาทิตย์ก็จะรู้ศัพท์แปลก ๆ ไปกว่า 50 คำ ทุกวันเสาร์แกจะทำการ recap หรือไล่ทวนเนื้อหาที่สอนไป โดยจะหาเหยื่อมานั่งเก้าอี้ตรงข้ามกับแก และก็จะสนทนากันโดยใช้สิ่งที่เรียนไปทั้งอาทิตย์หรือไม่ก็สนทนาแบบ General Questions ถ้าแกเห็นนักเรียนคิดคำถามไม่ได้ แกจะช่วยตั้งคำถามให้ ถ้าคนไหนแกเห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาดีขึ้นแกจะเข็นส่งให้เลย แกจะเรียกให้พูดบ่อย ๆ คนที่ไปได้ช้าอย่างเจ้าหนูปั๊กเทฮองนี่แกก็จะให้นั่งฟังและถาม-ตอบ หนึ่งอาทิตย์แกจะก็จะเรียกขึ้นมาสัมภาษณ์เพื่อดูความก้าวหน้า จริง ๆ แล้วไม่ใช่อะไรหรอกครับ เจ้าหนูปั๊กแกชอบนั่งวาดรูปเล่นในชั่วโมง บ้างก็ชวนคนอื่นเล่น จนอาจารย์ต้องตั้งฉายาว่า "Jack in the box"

ถ้าท่านเรียนกลุ่มมาสัก 1-2 เดือน ถ้าตั้งใจเรียนทุกวัน ไม่ขาดเรียน และไม่หาโอกาสพูดภาษาไทยกับใครเลย การคิดจะเริ่มเป็นอัตโนมัติขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปลมาเป็นอังกฤษ ถ้ามาถึงโรงเรียนเร็ว ๆ ก็หาโอกาสสนทนากับเพื่อน ๆ ได้ ผู้ที่มาเรียนโดยมากจะอยากพูดอยู่แล้ว ในการเรียนแบบกลุ่มไม่ใช่ว่าเป็นการฝึกพูดอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกการฟังด้วย เพราะในขณะที่อาจารย์กำลังถามตอบกับเพื่อนคนอื่นอยู่ ยังไม่ถึงคิวของเรา เราก็อาศัยโอกาสนี้ฝึกการฟังไปด้วยหรือพูดตามอาจารย์ อันนี้ก็จะช่วยพัฒนาทักษะการพูดและการฟังได้ดีมากยิ่งขึ้น และก็ได้พบเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่มาเรียนที่ London School นี้พอคุยด้วยแล้วก็พบว่าบางคนเรียน Speaking ที่เมืองไทยมาก่อน เสียเงินไปแล้วก็หลายหมื่น บอกว่าเรียนพูดอังกฤษ 2 ชม. พอกลับมาบ้านพูดแต่ภาษาไทย 22 ชม. เลยไม่ได้อะไรเท่าไหร่ เพราะไม่มีโอกาสพูด เลยต้องมาอยู่ที่นี่ช่วงปิดเทอม เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพงและได้พูดภาษาอังกฤษทุกวันอีกด้วย

การเรียนในคลาสที่มีคนต่างชาติ นอกจากท่านจะได้ฝึกสนทนาอย่างไม่อายแล้ว ท่านก็จะได้พบเห็นหลายหลากวัฒนธรรม หลายหลากความคิด หลายทัศนคติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา, วัฒนธรรม, การเมือง, งานอดิเรก, ดารา หรือกีฬาที่ชอบ ฯลฯ การมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติในการไปไหนมาไหนด้วยกัน เช่น กินข้าว, เดินกลับบ้าน หรือไปดูหนัง มันจะช่วยให้ท่านพัฒนาการพูดได้ดีขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะการถกประเด็นปัญหาด้วยแล้ว คนแขกนี่ถ้าเขาเชื่ออะไร เขาจะเถียงแบบสุด ๆ เราคนไทยจะเถียงไม่ค่อยทันเท่าไหร่ แบบนี้จะได้ผลดีมากครับ เพราะสถานการณ์มันบังคับให้ท่านต้องพูดและต้องฟังให้รู้เรื่อง และจะได้คำศัพท์ในการพูดเยอะมาก และถ้าท่านไปเรียนภาษาแบบไปกันหลาย ๆ คน ถ้าจะให้ดีล่ะก็ควรจะพักแยกกัน, เรียนแยกกัน ซึ่งจะให้ผลดีกว่านั่งเรียนเก้าอี้ติดกัน เพราะถ้าเราจับกลุ่มคนไทยไปนั่งเรียนในคลาสเดียวกันหลาย ๆ คนอาจจะได้ผลไม่ดีเท่ากับการกระจายไปเรียนรวมกับชาวต่างชาติ เพราะถ้าเราหันไปมองซ้ายขวา ก็จะเจอแต่คนไทย บรรยากาศก็คงไม่ต่างอะไรไปจากการเรียนในประเทศเราเอง คือ มันไม่มีอะไรบังคับให้ท่านพูดภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านจะขอยืมสมุดเพื่อน (คนไทย) ไปจด ท่านจะพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยล่ะ... ถ้าต้องการฝึกภาษาก็จะต้องพยายามหักห้ามใจพูดกับเพื่อนคนไทยโดยใช้ภาษาอังกฤษ แต่จะมีเรื่องให้สนทนากันกี่เรื่อง และจะอดใจไม่พูดภาษาไทยได้หรือเวลาไม่เข้าใจกัน? อันนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่อยากให้เสียโอกาสดี ๆ ในการเก็บประสบการณ์จากต่างแดน อย่างนักเรียนบางคนไปอยู่โรงเรียนประจำ ไปขอนมจากโรงอาหาร พูดคำว่า Milk เป็น "มิ้ว" แม่ครัวเขาก็ไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งต้องมีคนมาสอนเรื่องของการออกเสียงให้เป็น "มิล-เขอะ" คือเติมเสียงตัว k เล็ก ๆ เข้าไปด้วย หรืออย่างจะไปซื้อเกลือ ไปบอกคนขายว่าจะเอา "ซอล" (Salt) เขาไม่รู้นะ ต้องบอกว่า "ซอลท" เติมเสียงตัว t ไปด้วย นั่นล่ะถึงจะซื้อกินกันได้ นี่ไงครับ "โอกาส" ถ้าเราไม่หาโอกาสในการสนทนา เราจะไม่รู้เลยว่าเราออกเสียงผิดหรือถูก ท่านว่าจริงมั้ยครับ.. หรืออย่างเพื่อนคนไทย ที่เรียนด้วยกัน จะขออนุญาตเปิดพัดลมเพดาน เพราะว่ามันร้อน ก็หลุดคำไทยออกไปเต็มๆ เลยว่า "May I open the fan" คือ "ขอเปิดดู (แกะ) พัดลมได้มั้ย" อ.แกก็เลยบอกคำที่ถูกว่าต้องใช้ "switch on" หรือ "turn on" นั่นล่ะ จึงจะได้รู้กัน ถ้าให้พูดเรื่องโรงเรียนสอนภาษานี่ พูดไม่หมดครับ แต่ก็บอกได้ว่าที่นี่ให้ประสบการณ์และความมันส์เยอะเลยทีเดียว ถ้าใครจะพาลูกหลานมาเก็บประสบการณ์ที่นี่ก็คงจะดีไม่น้อย หรือจะแบกเป้มาลุยแบบเดี่ยวๆ แบบผม มาหาเพื่อนเอาแถว ๆ นี้ก็จะมันส์ไปอีกแบบครับ