วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย::ขุดทองใน "บังกาลอร์" จุดเริ่มต้นในดินแดนไอที

ขุดทองใน "บังกาลอร์" จุดเริ่มต้นในดินแดนไอที

ที่มา : Bizweek กรุงเทพธุรกิจ จากการสัมภาษผู้จัดการ India IT Traning and Education

เมือง "บังกาลอร์" ในอินเดีย ชุมชนคนไอทีที่ทั่วโลกต่างรู้ว่าที่นั่นเป็นขุมทรัพย์ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจไอที ไม่เท่านั้น บังกาลอร์ยังเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยในอีกหลายธุรกิจ อาทิเช่น ร้านอาหาร สินค้าอุปโภค-บริโภค แม้กระทั่งตลาดการศึกษา


"บังกาลอร์" หรืออีกฉายา "Silicon Valey of India" เมืองศูนย์กลางการผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการส่งออกของอินเดีย หรือที่รู้กันว่าเป็นเมืองที่บุคลากรด้านไอทีฝังตัวมากที่สุดในโลก

เฉพาะแค่โปรแกรมเมอร์ด้าน "SAP" ที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายส่งออกไปทำงานในต่างแดนปีละ 19,000 คน ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างน้อยปีละ 19,000 ล้านบาท ถ้ารวมโปรแกรมเมอร์ในสายอื่นๆ และพนักงานในบริษัทไอทีระดับโลก คงหนีไม่พ้นหลักแสน

พอมองออกว่า "คนไอที" สามารถเป็นกำลังสำคัญในการนำเงินตราเข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ

คนไทยจะมีโอกาสอะไรในเมืองบังกาลอร์บ้าง?....

หากเป็น "ลู่ทาง" ทางด้านการลงทุน สำรวจได้ว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีร้านอาหารไทยไปเปิดในเมืองบังกาลอร์เลย แต่รู้หรือไม่ว่า "ครัวไทย" กลับได้รับความนิยม ถึงขนาดคนอินเดียเข้าคิวต่อแถวเหมือนกับเข้าคิวร้านโออิชิ

"ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นของคนจีน ทำให้รสชาติไม่เหมือนอาหารไทยแท้ๆ คนอินเดียชอบกินอาหารไทยมาก" เป็นคำบอกกล่าวจากอดีตนักเรียนไทยด้านไอทีในบังกาลอร์

อีกทั้ง "สินค้าอุปโภคบริโภค" ของตราสินค้าไทย ยังเป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับบรรดาแขกอินเดียด้วย ไม่ว่าจะเป็นของกิน มาม่า ขนมของกินเล่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพู และสินค้าอีกสารพัดอย่างที่ยังหาซื้อได้ยากมาก

สินค้าพวกนี้หาซื้อได้ที่ "ร้านเจ๊ต้อย" เพียงแห่งเดียว ซึ่งตั้งอยู่ในห้างฟอรัม มอลล์ บนถนน Hosur ซึ่งเป็นชอปปิง มอลล์ ที่ใหญ่ที่สุดในบังกาลอร์

"นักเรียนไทยทุกคนจะรู้จักร้านนี้ สินค้าไทยขายดีมาก แต่ยังไม่มีคนไทยเข้ามาเปิดกิจการร้านอาหารไทย หรือร้านขายของชำเลย จึงมีร้านเจ๊ต้อยอยู่เพียงร้านเดียว" เขากล่าวเสริม

ยังมีอีก 3 ห้างยักษ์ในเมืองนี้ ได้แก่ Garuda Mall, Prestige Eva Mall และ Sigma Mall ที่กำลังปรับตัวจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ มีความทันสมัยมากขึ้น

ที่สำคัญกว่านั้น นับจำนวนชอปปิง มอลล์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกกว่า 11 แห่งที่กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้

เมื่อสำรวจไปที่สถานทูตไทยในอินเดีย เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า รัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในอินเดียได้ 100% โดยไม่มีข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุน

ทว่าการเปิดบริษัทขนาดใหญ่ ต้องเป็นการร่วมทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 51%

ล่าสุด Indian Brand Equaty Foundation (IBEF) ประกาศการลงทุนธุรกิจ "ค้าปลีก" ของต่างชาติในอินเดีย

"Hypercity Ratail" รับเงินอัดฉีดจาก "K Raheja Corp Group" เตรียมเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 55 สาขา ภายในปี 2015 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

"เทสโก้" จับมือกับโฮม แคร์ รีเทล ไพรเวท คาดเปิดร้านเทสโก้ 50 สาขา ในอีก 3 ปีข้างหน้า

แม้แต่ "Reliance" วางแผนลงทุน 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดตัวชอปปิง เซ็นเตอร์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอินเดีย ที่จะขยายเชนทั้งหมด 1,575 แห่ง ภายในมีนาคมปีนี้

ผลพวงจากการรุกคืบธุรกิจค้าปลีก มาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อินเดียโตวันโตคืน ปี 2549 โชว์ตัวเลขอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 8%

เทรนด์ของคนทำงานมีรายได้สูงขึ้น "AT Kearney Global Retail Developemnt Index" ชี้ชัดว่า "มีการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า สื่อบันเทิง การพักผ่อนวันหยุด และสินค้าไลฟ์สไตล์สูงขึ้น"

ขนาดที่ว่า "AC Neilson Consumer Confident Survey" ในครึ่งปีแรก 2546 อินเดียขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเติบโตในบรรดา 41 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้นำในบรรดา 14 ประเทศในเอเชียด้วย

อีกทั้งตลาด "การศึกษา" ยังสร้างความคึกคักให้กับบังกาลอร์ด้วย

IBEF รายงานอีกว่า Trieste-based Universita del Caffe สถาบันด้านอาหารที่ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยวปีละกว่า 2,000 คน ได้เตรียมเปิดหลักสูตรด้านการชงกาแฟอย่างมืออาชีพในเมืองบังกาลอร์ เนื่องจากมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้น

นี่อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่ง บังกาลอร์ได้กลายเป็นฮับไอทีที่มีความอินเตอร์เนชั่นแนล มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่หลายชาติหลายภาษา แค่เพียงของไมโครซอฟท์กว่าครึ่งก็ตั้งหลักอยู่ในเมืองนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟกระตุ้นให้เกิดธุรกิจ

ย้อนกลับมาที่เมืองไอที "บังกาลอร์" ยังเป็นฮับของคนที่แสวงหาความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ควบคู่กับไอที

มีการคาดการณ์ตัวเลขนักศึกษาไทยในบังกาลอร์สูงถึง 1,000 คน

"พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าอินเดียเป็นเมืองไทย ยังไม่ใช่เมืองเป้าหมายของการส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อ นักศึกษาส่วนใหญ่เลยจึงมาเรียนปริญญาตรีในหลายๆ สาขา แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้ เป็นการเรียนรู้ด้านไอที" เจ้าของธุรกิจ "India IT Training and Education" กล่าว

นโยบายของรัฐบาลอินเดียที่ส่งเสริมให้บังกาลอร์เป็นศูนย์กลางไอที จึงทำให้มียักษ์ใหญ่อย่าง IBM, HP, Google, Microsoft, Apple,SAP LAB, Dell, Oracle, Wipro และอื่นๆ อีกทั้งยังมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรคอมพิวเตอร์อย่างมากมายและมีคุณภาพ

"อินเดียมีค่าครองชีพถูกมาก ค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ก็อยู่อย่างสบายๆ บังกาลอร์ยังเป็นเมืองที่อากาศดีอุณหภูมิ 15-25 องศาตลอดปี และขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง "การ์เด้น ซิตี้" เพราะต้นไม้เยอะมาก ขับรถสองข้างทางยังเห็นกระรอกกระแตอยู่เลย หากใครตัดต้นไม้ถือว่าผิดกฎหมาย" เขากล่าว

ธุรกิจของ IITT เปิดให้บริการเป็นตัวแทนจัดหาสถาบันการศึกษาให้คนไทยไปเรียนด้าน IT ที่บังกาลอร์ การเปิดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ปรากฏตัวเลขส่งคนไทยไปเรียนเดือนละ 7-8 คน

"เรามีแพ็คเกจที่เหมาะสำหรับคนทำงานที่ต้องการไปฝึกด้านไอทีให้เป็นมืออาชีพ โปรแกรมเมอร์ที่สนใจด้าน SAP, Network" เขากล่าว

SAP เป็นโปรแกรมจัดการองค์กรขนาดใหญ่ที่บริษัทใหญ่ๆ ใช้บริหารจัดการ

บริษัทไทยที่ใช้โปรแกรมนี้ได้แก่ เชลล์, พีทีที, เอ็กซอน โมบาย, เนสท์เล่, การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารต่างๆ, การบินไทย, ฮอนด้า, โตโยต้า, จีเอ็ม, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, กลุ่ม ปตท., กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย, กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และอีกหลายแห่ง

"คนทำงานด้านนี้จะได้เงินเดือนสูงมาก แต่ว่าในเมืองไทยยังไม่มีสอนหลักสูตรด้านนี้ หลักสูตรที่มีอยู่ราคาแพงมาก อย่างหลักสูตร 20 วัน ราคา 300,000 บาท" เขากล่าวเสริม

ต่างจากการไปเรียนที่บังกาลอร์ที่มีคอร์สให้เลือกเรียนมากมายในราคาที่ถูกกว่าเมืองไทยถึง 8 เท่า ในขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างจากเมืองไทยเลย และยังได้ "กำไร" เป็นดีกรีภาษาอังกฤษกลับมาด้วย

หากว่าความสามารถทางภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ สามารถสมัครไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติที่มาจองตัวนักศึกษาที่จบไปทำงานที่สิงคโปร์ อเมริกา และยุโรปในหลายประเทศ

"ไม่ต้องกลัวตกงาน เพราะหากภาษาอังกฤษยังไม่ดี เราก็กลับมาทำงานในเมืองไทยได้ และยังได้เปรียบมีดีกรีด้านโปรแกรมที่ยังขาดบุคลากรด้านนี้อีกมาก ปกติในการรับสมัครคนทำงานในตำแหน่งนี้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน" เขากล่าว

ในช่วงที่บังกาลอร์กำลังเป็นกระแสที่น่าจับตามองสำหรับคนไทย

สายการบิน "นกแอร์" ยังได้ฤกษ์เปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-บังกาลอร์ เป็นสายการบินแรกด้วย ด้วยการให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน แบบไป-กลับ ตลอดสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินโบอิง 737-400 รองรับผู้โดยสารได้ 150 ที่นั่ง เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2550

การที่นกแอร์ประกาศตัวเป็นสายการบิน "Shopper's Airline" ขนคนไทยไปชอปปิงที่นั่น เพราะขึ้นชื่อด้านสาหรี่และผ้าไหมพื้นเมืองที่สีสันตระการตา ยังเป็นโอกาสของอีกหลายบริษัททัวร์ที่สามารถออกแบบแพ็คเกจใหม่ๆ

หากได้ย่ำเท้าไปสูดอากาศเมืองที่ไร้มลพิษอย่างบังกาลอร์สักครั้ง-สองครั้ง

ไม่แน่ คุณอาจ "ปิ๊ง" ไอเดีย! จะทำอะไรที่บังกาลอร์....