วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย::บังกาลอร์สร้างตนเป็น Silicon Valley อย่างไร?

บังกาลอร์สร้างตนเป็น Silicon Valley อย่างไร?

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

ถ้าจะศึกษาการเติบใหญ่ของอินเดีย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องดูบังกาลอร์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของเอเชีย เพื่อดูความสามารถสร้างตนเอง ขึ้นมาเป็นศูนย์ผลิต computer software ที่คึกคักและได้มาตรฐานโลก

บังกาลอร์อยู่ในรัฐการ์นาตากา (Karnataka) ทางใต้ของอินเดีย บริษัทยักษ์ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ของโลกล้วนมาตั้งสาขาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น Dell, Microsoft, IBM หรือ Infosys และ Wipro ซึ่งสามารถจ้างหนุ่มสาวอินเดียที่เรียนจบทางด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันที่มุ่งผลิตคนเก่งด้านนี้ เพื่อป้อนตลาดโลกอย่างคึกคัก

บังกาลอร์เป็นศูนย์ของสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และ software ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน

เขาสร้างความโดดเด่นด้านนี้ด้วยการเริ่มที่การ "สร้างคน" เพราะทุกปีมหาวิทยาลัยในอินเดียผลิตนักเรียนที่มุ่งเฉพาะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 20,000 คน

มหาวิทยาลัย Indian Institute of Science ที่บังกาลอร์ มีชื่อด้านรับเฉพาะ "หัวกะทิ" ของเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยมาเรียนหนักทางด้านเทคโนโลยีระดับสูง รัฐบาลอินเดียให้เงินอุดหนุนเพื่อฝึกฝนเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างเต็มที่

บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ทั่วโลกรู้ว่า คุณภาพของเด็กที่จบจากที่นี่มีความเก่งกาจสามารถ และบริษัทเจาะหาคนมีรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เรียกว่า head-hunters ต่างก็รู้ว่า ถ้าได้เด็กจากที่นี่ เขาจะได้ "ช้างเผือก" ไปทำงานให้กับลูกค้าของตัวเอง

แม้กระทั่งองค์การอวกาศชื่อดังของอเมริกา NASA ก็ยังมาแสวงหาคนทำงานรุ่นใหม่ๆ จากที่บังกาลอร์นี่แหละ

วันนี้ บังกาลอร์ชนะ Silicon Valley ของอเมริกาที่เป็นแม่แบบด้วยซ้ำไป เพราะจำนวนวิศวกรที่บริษัทน้อยใหญ่ในบังกาลอร์จ้างนั้นมีมากกว่า 150,000 คน ซึ่งสูงกว่าของซิลิคอน วัลเลย์แล้ว

บังกาลอร์เริ่มวางรากฐานของการเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีเมื่อ 1986 อันเป็นปีที่บริษัท Texas Instruments จากอเมริกาไปตั้งศูนย์กลางวิจัยวิศวกรรมเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่ออเมริกาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บริษัทไฮเทคของมะกันใหญ่ๆ ต่างก็ย้ายคนมาทำงานที่บังกาลอร์ เพราะค่าแรงถูกและหาคนมีความรู้ความสามารถด้านนี้ได้ง่ายกว่า

อีกทั้งนักคอมพิวเตอร์และวิศวกรอินเดียที่ไปทำงานอยู่สหรัฐในช่วงนั้น พากันอพยพกลับบ้าน เพราะหางานทำในอเมริกายากเย็นขึ้น ส่วนใหญ่ไปตั้งหลักที่บังกาลอร์

และเพราะเกิดกรณีความกลัววิกฤติโลกในปี 2000 ที่เรียกว่า Y2K บังกาลอร์ก็กลายเป็นศูนย์ของการตั้งระบบคอมพิวเตอร์สำรองในกรณีที่ระบบแม่ที่อเมริกาเกิดพังพาบลงมา

ไม่ช้าไม่นาน บังกาลอร์ก็เริ่มส่งออก computer software ไปต่างประเทศ มูลค่าส่งออกล่าสุดไม่น้อยกว่าปีละ 20,000 ล้านเหรียญ หรือ 800,000 ล้านบาท

ไม่ต้องสงสัยว่า เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของอินเดียทางด้านนี้เริ่มที่คน, ตามด้วยคน และจบด้วยคน

อินเดียสามารถผลิตเด็กจบมหาวิทยาลัยปีละไม่น้อยกว่า 3.1 ล้านคน และคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นสองเท่าตัว

จำนวนวิทยาลัยที่สอนเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์จะเพิ่มอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งก็แปลว่า จะมีวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 1,600 แห่ง

เห็นหรือยังครับว่า ถ้าการ "ปฏิรูปการศึกษา" ของเรายังไม่ไปถึงไหน, ก็อย่าได้หวังว่าเราจะตั้งตัวเป็น "ศูนย์กลาง" ของอะไรต่อมิอะไรในภูมิภาคนี้อย่างที่เราได้ยินได้ฟังมาหลายปีก่อน

เพราะก่อนที่เราจะประกาศว่า เราจะทำอะไร, เราต้องถามก่อนว่า "ใครจะทำ?"