มาแบบไม่มีอะไร
สิ่งที่ผมตั้งใจในการเดินทงครั้งนี้ก็คือ ไปหาที่เรียนด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ ด้วยความที่ว่าตัวเองก็เรียนภาษามาจากเมืองไทยมาตั้งหลายปีแล้ว จะไม่ให้หลายปีได้อย่างไร ก็เรียนกันมาตั้งแต่ประถมจนถึงปริญญาตรี พอติดต่อหลาย ๆ ที่แล้วมันยากลำบากเหลือเกิน ได้ข้อมูลไม่กระจ่างชัด ก็เลยเกิดความคิดพิเรนว่า "ถ้างั้น มาเองเลยดีกว่า" คิดถึงขนาดจะมาเอง แต่คิดไปคิดมาก็ยับยั้งชั่งใจเอาไว้ได้ ขนาดหลายปีที่แล้วที่เคยมานั่งรถบัสเที่ยวที่เดลลี ผ่านวงเวียน 10 วง งงเป็นไก่ตาแตก แบบนี้ไม่เอาดีกว่า พยายามมองหาผู้ที่สามารถติดต่อที่พักในอินเดียต่อไป หาจากอินเตอร์เน็ตบ้าง จาก Google นี่ล่ะครับ โดยหาจากกระดานข่าวเป็นหลัก จนไปเจอบริษัทหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อตรงนี้ก็แล้วกัน ผมก็โทรไปคุยด้วย คุยกันนานมาก ผมก็ถามทุก ๆ เรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับเมืองนี้ คุยกันมาเป็นปี ผมก็หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตประกอบ ไม่ว่าจะเป็น สภาพธุรกิจ, บ้านเมือง, ภาษาที่ใช้, ยานพาหนะ, แหล่ง shopping, โรงหนัง, ร้านหนังสือ, ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่, โรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์, ค่าโดยสารรถสามล้อ ผมถามไปถึงสภาพห้องเป็นอย่างไร, เดินทางไปโรงเรียนกี่บาท, กดเงินที่ไหน, ในห้องทำอาหารเองได้มั้ย และที่สำคัญจ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ผมถามทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่ผมจะต้องทำในวันหนึ่ง ๆ เมื่อเขาให้ข้อมูลผมได้ครบถ้วน ผมก็มั่นใจกับบริษัทนี้และคนที่ผมติดต่อด้วยอย่างมาก ซึ่งก็ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนเลย คุยกันทางโทรศัพท์ตลอดแล้วมาเจอกันอีกทีวันที่เดินทางเลยได้พบหน้ากัน คุยกันแค่ 3 ชม. และก็บิน
ผมบอกกับเขาว่าให้ผมไปอยู่ที่นี่สักระยะหนึ่ง ช่วง Summer เพราะผมจะว่างก็ตอนปิดเทอมนี่ล่ะ ขอแถว ๆ ใจกลางของบังกาลอร์ โชคดีมากเลยครับ ผมได้อยู่ใจกลางเมืองเลย รถวิ่งกันควันกระจาย ผมอยู่ที่ถนน Brigade ซึ่งเป็นถนนธุรกิจของเขา ถนนเส้นนี้เชื่อมต่อมาจากตรงกลาง ๆ ของถนน M.G. ซึ่งก่อนไปนั้นผมก็ศึกษาแผนที่ของเมืองนี้จากอินเตอร์เน็ต และคิดว่าเป็นแผนที่ที่อัพเดทที่สุดแล้ว ผมเขียนแหล่งอ้างอิงเอาไว้ที่ภาคผนวกแล้วล่ะครับ อย่างน้อยเราก็ทำให้เราพอรู้คร่าว ๆ แล้วล่ะว่าอะไรอยู่ตรงไหน จะได้วางแผนการเดินทางได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ การตระเตรียมของเพื่อที่จะมาที่นี่ ถ้าจะให้ดีล่ะก็จะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ วัน หลายสัปดาห์เลยยิ่งดี เพราะเราแทบจะไม่รู้ว่าที่นี่จะมีอะไรให้เราบ้าง พอมาอยู่ที่นี่ไม่กี่วันผมคิดถึงอยู่อย่างเดียวที่ไม่น่าลืมคือลิปมัน 2-3 วันแรกปากแตกเลยครับ ไม่ได้ไปโดนแขกต่อยมานะครับ แต่อากาศที่นี่เย็น บังกาลอร์มีสัณฐานเป็นที่สูง อุณหภูมิตอนหน้าร้อนนี้อยู่ที่ประมาณ 20-35 องศา ในเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน ตอนกลางวันอากาศก็ร้อนดี แค่ 32-34 องศาเอง ("เอง" นะ) ที่แปลกก็คือไม่ค่อยมีเหงื่อ ขนาดผมเป็นคนที่ร้อนง่ายนะครับ แต่ที่นี่ผมเดินกลับบ้านทุกวันกลับไม่มีเหงื่อมากเท่าไหร่ ที่นี่กลับร่มรื่นกว่าที่คิดเพราะว่ามีต้นไม้เยอะมาก และมีร่มไม้จากต้นไม้ใหญ่ ๆ เป็นระยะ ๆ ที่เมืองบังกาลอร์จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ว่า "The City of Gardens" รู้อย่างนี้ หน้าหนาวช่วงปลาย ๆ ปีคงไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครจะมาช่วงนั้นเตรียมเสื้อกันหนาวและก็ลิปมันมาด้วยนะครับ
สำหรับข้าวของที่ต้องเตรียมก็มีหลายอย่าง ของกลุ่มแรกก็คือของจำเป็นเบื้องต้นเวลาไปเข้าค่ายลูกเสือนั่นล่ะครับ อาหารบางส่วน ไม่ต้องเอาไปเยอะ เพราะที่อินเดียอุดมสมบูรณ์ด้วยผักผลไม้อยู่แล้ว ข้าวสารนี่ก็ไม่ต้องหอบไป ไปหาเอาที่นั่นได้ กระทะแบบเสียบปลั๊กกับกาต้มน้ำไฟฟ้าอันนี้ควรจะเอาไปด้วย อย่างน้อยก็สามารถทำอาหารง่าย ๆ ได้เอง นอกจากนั้นก็มียาประจำตัวและก็เสื้อผ้าบางส่วน เพราะท่านสามารถหาซื้อเสื้อผ้าได้แถว ๆ เพราะมีขายเยอะครับ เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตที่นี่จะนิยมใส่กันตัวละ 50-120 บาทก็มี แต่แนะนำว่าถ้าไปเรียนล่ะก็อย่าแต่งตัวมาก เพราะจะดูเหมือนนักท่องเที่ยว แต่งสบาย ๆ โทรม ๆ ดีกว่า ไม่มีใครวิ่งเข้ามาเร่ขายของ และที่สำคัญคือคอมพิวเตอร์เครื่องเล็ก ๆ สักเครื่องที่จะเอาไว้คอยพิมพ์งานถ้าท่านไปเรียนคอมพิวเตอร์ก็ควรจะติดเอาไปด้วย, แผ่น CD เปล่า, CD-RW และแผ่นโปรแกรมติดตั้งวินโดวส์และโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดเอาไปด้วย เพราะถ้าหากใช้คอมไปเกิดมีปัญหากับวินโดวส์กลางคัน เดี๋ยวจะไปหาแผ่นติดตั้งไม่ได้นะครับ ที่นั่นไม่มีแผ่น Copy วางขาย ดังนั้น เตรียมเอาไปด้วย ก่อนไป back up ข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ 1 แผ่นไว้บ้านกับติดตัวไปด้วยอีกแผ่นกันเหนียว และอีกอย่างหนึ่งก็คือ เตรียมรับมือกับอาการเบื่อโลก ถ้าอยู่แรก ๆ อาจจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแปลกใหม่ แต่ความรู้สึกแบบนี้มันจะมา ๆ หาย ๆ ดังนั้น เตรียมเกมคอมพิวเตอร์ง่าย ๆ เล็ก ๆ เอาไปเล่นตอนเหงา ๆ หนังสืออ่านเล่นสักเล่มสองเล่ม อันนี้ก็แล้วแต่ครับ เมื่อถึงวันเดินทาง ผมโดยสารมากับ TG เที่ยวนี้มีคนไทยไม่กี่คน แต่ที่รู้ ๆ ผมนั่งหน้าขาวอยู่คนเดียว รอบ ๆ ข้างมีแต่คนอินเดียหมดเลย ถึงที่นี่ประมาณเวลา 3 ทุ่มของเขา (แต่บ้านเราปาเข้าไป 4 ทุ่มครึ่งแล้ว) ถึงแล้วก็สบายใจครับ
เดินออกจากสนามบินมีแต่คนมองทำนองว่าไอ้ตี๋ญี่ปุ่นนี่มาทำไม (ที่นั่นเขาเห็นผมเป็นคนญี่ปุ่นหมดเลยครับ ทัก Japanese กันหมดไม่มีใครทักว่าไทยสักคำเดียว) พอออกมาก็มีน้อง ๆ น่ารัก ๆ มารับ น้องหมี น้องปุ๊ และน้องมุนน่า พาไปที่พัก คิด ๆ ไปถ้ามาคนเดียวนี่คงจะสนุกพิลึก เพราะที่พักของลุงกับป้านี้ ดูภายนอกไม่มีทางรู้แน่นอนว่าบ้านแกแบ่งให้เช่า เพราะไม่มีป้ายบอกอะไรเลยครับ ห้องพักของผมนี้พื้นปูแกรนิต เย็น สะอาด และมีหน้าต่างตรงทางลมพอดี ลมโกรกตลอดเวลา ยุงไม่ค่อยเห็น ไม่รู้เป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นไปได้ว่าผมอยู่ชั้นสอง วันต่อมามันเริ่มมากันพรึบเลย เหมือนกับมันรู้ว่ามีคนอยู่เลยเข้ามาเยี่ยมกันอย่างอบอุ่นเลย ผมต้องแง้ม ๆ หน้าต่างไว้แล้วเอาธูปไปปักไว้แถว ๆ นั้นไม่ได้เซ่นไหว้อะไรหรอกครับ มันไม่มียากันยุง เอาธูปปักหลอกยุงไปก่อนก็แล้วกัน วันต่อมาเลยต้องไปหาซื้อพวกยากันยุงมาใช้ ไม่แพงครับ แต่ถ้าให้ดีไปซื้อเครื่องไล่ยุงมาดีกว่า เป็นแบบเสียบปลั๊กอันเล็ก ๆ Rs.63 ใช้ได้ประมาณเดือนนึง และก็ซื้อแบบตัวเติมน้ำยา (Refill) มาเติม ง่ายดีครับ หลัง ๆ เลยเปิดหน้าต่างทุกบานนอนหลับสบาย ไม่มียุงสักตัว
มาถึงเรื่องห้องพักต่อ ห้องที่พักนี้เป็นห้องกว้าง ขนาดอยู่ 2 คนได้สบาย มีห้องน้ำในตัว พร้อมที่ล้างหน้าและมีน้ำอุ่นให้ด้วย น้อง ๆ เขาบอกว่าผมเป็นคนแรกที่เอาของติดตัวมาน้อยที่สุด ไม่ให้น้อยได้อย่างไรล่ะครับ ผมยัดของมาเยอะมาก แต่ก่อนไป 2 วันผมโยนออกหมดเลย เอาไปแต่ของที่ใช้แล้วหมดไป เช่น สบู่, ยาสีฟัน, อาหารแห้ง ฯลฯ ทุกอย่างลดลงครึ่งนึง สบู่ก็เอาไปก้อนเดียว ยาสีฟันก็เปลี่ยนเอาหลอดเล็กไป อาหารแห้งพวกบะหมี่ก็เอาออกไปครึ่ง, สำหรับของพวกวิทยุ, ทีวีเครื่องเล็กแบบนี้ไม่คิดจะพกเลย ผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวก็ไม่พกไป กะว่าไปหาเอาแถวนั้นง่ายกว่า ถ้าคนอินเดียไม่มีผ้าเช็ดตัวหรือไม่มีผ้าห่มก็ให้มันรู้ไป ถังน้ำหรือขันก็ไปหาเอาที่นั่น
ปฏิทินตั้งโต๊ะก็ฉีกไปเฉพาะเดือนที่ไปบวกลบไปอีกหนึ่งเดือน ผมเอาของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกหมด เลยเหลือกระเป๋าแค่ 2 ใบ แบบเดินลากใบหนึ่ง อีกใบใส่เสื้อผ้าที่เหลือสะพายเอา วันแรกไปถึงทำอะไรไม่ได้มาก อยากกินกาแฟของโปรดก็ทำไม่ได้ มีกาต้มน้ำก็จริง แต่ต้มไม่ได้เพราะปลั๊กคนละแบบ เสียบกันไม่ได้ เอ้า...งั้นวิ่งหาปลั๊กวันรุ่งขึ้นก็แล้วกัน ไม่รู้หาที่ไหนด้วย น้อง ๆ เขาบอกว่าไปหาตามร้านขายของชำได้ เขาจะพาไปวันรุ่งขึ้นตอนเย็น พอวันรุ่งขึ้นก็เริ่มเดินเตร็ดเตร่ตั้งแต่เช้าเลย เดินไปเรื่อย ๆ หาถัง, ขัน, แก้วน้ำเล็ก ๆ ไว้ชงกาแฟ หมดไปประมาณ Rs.70 (70 รูปี) หรือประมาณ 70 บาท ตัวแปลงปลั๊กหรือ Multiple plug ก็อันละ Rs.40 ก็ประมาณ 40 บาท (ในตอนมีนาคม 48) พอหมดเรื่องห้องก็สบายแล้วครับ อย่างน้อยเรามีที่ซุกหัวนอนแล้ว ลุงเขาก็ให้กุญแจเรามาเก็บไว้ ลุงแกเป็นฮินดู พอได้คุยกันบ่อยเข้าก็เลยรู้ว่าแกใจดีเอามาก ๆ ตอนแรกนึกว่าจะดุ คนที่นั่นนะครับ สีผิวเขาทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าจะดุ แต่จริง ๆ แล้วก็เหมือนกับบ้านเรา บางคนก็คุยเก่ง มีน้ำใจดีเหมือนคนไทยเลยล่ะ ยิ้มเก่ง ไปไหนไม่ถูกก็ถาม เขาก็อุตส่าห์ชี้ให้ บางคนเห็นเรายืนถามทาง ก็เข้ามาช่วยดูก็มี บ้างยิ่งใจดีใหญ่ เดินพาไปถึงที่เลยก็มี ลุงแกบอกว่าแกมีห้องว่างสองห้อง แกขอแค่คนที่มาพักให้เป็นคนดีก็พอ (Good man) ไม่เอะอะ, ไม่รบกวนคนอื่น เจอกันทักกันด้วย ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างอยู่ เหมือนคนก่อน ๆ ที่มาพัก แกก็เล่าให้ฟังว่าทักแล้วก็ไม่ทักตอบ จู่ ๆ ก็หายกลับบ้านไปเลย ไม่ยอมบอกกล่าวกัน แบบนี้เป็นใครก็เสียความรู้สึกเหมือนกัน