วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย-09 : ตะลุยร้านหนังสือ

ตะลุยร้านหนังสือ

จุดหมายของผมในการมาที่นี่คือมาให้ได้ความรู้มากที่สุดเพื่อที่จะนำประสบการณ์ความแตกต่างของอินเดียกับเมืองไทยนี้ไปปรับใช้และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนต่อไป โดยเฉพาะสื่อที่เป็นตำราด้านไอที ที่บังกาลอร์นี้มีที่เรียนระยะสั้นเยอะ บ้างก็ 1 ปี 6 เดือนหรือ 3 เดือนก็มีในวิชาด้านไอที ไม่ว่าจะเป็น Programming, Operating System, Autocad ฯลฯ ก็แล้วแต่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องหาหนังสือพิมพ์มาเปิด ๆ ดู โทรไปติดต่อถามรายละเอียดเขาก่อน ถ้าสนใจก็ไปหา จ่ายตังค์กันตรงนั้น (พร้อมค่าภาษี 10%) และเขาก็จะให้ใบเสร็จและเราก็เข้าไปเรียนตามที่นัดเอาไว้ ไม่ยากครับ ค่อนข้างเรียบง่าย เขาจะยังใช้ระบบ Manual กันอยู่ คือ จดใส่สมุดเป็นเล่ม ๆ เลย ดูเลขที่แล้วก็อ้างอิงได้ว่าเป็นใคร จะเขียนใบเสร็จทีก็ขยับปากกาเดี๋ยวเดียว เร็วกว่ามาใช้คอมพิวเตอร์อีก เมื่อใคร ๆ ก็เห็นกันว่าบังกาลอร์เป็นเมืองแห่งโปรแกรมเมอร์ การที่จะเป็นอย่างนั้นได้ แสดงว่าที่นี่จะต้องมีทรัพยากรความรู้ที่ดี ว่ามั้ยครับ นั่นล่ะ คือจุดประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะไปหาตำหรับตำราที่ควานหาจากอินเตอร์เน็ตหรือหาจากเมืองไทยไม่ได้ สมุนไพรดี ๆ มักจะอยู่ในป่าลึก หรือถ้าอยากเรียนวิชาดี ๆ จะต้องดั้งด้นเดินทางไปแสวงหา ไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอกครับ เราเรียนรู้กันทั้งชีวิตล่ะครับ ดังนั้น การมาตะลุยครั้งนี้ไม่ผิดหวังเลย ข้อมูลเกี่ยวกับร้านหนังสือในบังกาลอร์มีอยู่พอสมควรบนอินเตอร์เน็ต แต่หลาย ๆ ร้านก็เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ แต่ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่าร้านไหนมีหนังสือสไตล์ไหน และจะมีหนังสือที่เราสนใจหรือเปล่า

แถว ๆ M.G.Road มีร้านหนังสือหลายร้านครับ เช่น Book Paradise, Book Cellar, Higginbothams, Gangarams โดยเฉพาะสองร้านสุดท้ายที่กล่าวไป ทั้งตึกมีแต่หนังสือ มีทุกประเภท ตั้งแต่ Children book, College book, หนังสือด้านคอมพิวเตอร์ และบริหาร (Management) มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี สำหรับภาษาท้องถิ่น Kanada นี่ก็มีครับ แต่จะเป็นบางเรื่อง เช่น นิยาย, นิตยสาร โดยมากมากกว่า 90% เป็นภาษาอังกฤษหมด นอกจากนี้ถนนที่ขนานกับ M.G.Road ก็มีร้านหนังสืออีก 2-3 ร้าน อย่างเช่นที่ Shrungar Shopping Center ก็จะมีร้าน The Bookpoint และ Computer Book Center ที่จะจำหน่ายหนังสือซีรี่ย์ Teach Yourself และหนังสือจาก BPB Publisher ของอินเดีย และนอกจาก Publisher ของอินเดียแล้ว บริษัทหนังสือคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ เช่น Wrox, O Reilly และค่ายหนังสือดัง ๆ จากต่างประเทศก็มาตั้งรกรากกันที่นี่เพื่อทำการพิมพ์ซ้ำ หรือ reprint หนังสือ และจำหน่ายเฉพาะในประเทศแถบนี้ ซึ่งก็จะมีประเทศอินเดีย, ศรีลังกา, บังคลาเทศ, เนปาล, นอกจากนี้ก็ยังกระจายไปยังโมรอคโค, ลิเบีย และอาจจะไปถึงแอฟริกาใต้ เขาจะไม่จำหน่ายไปประเทศในแถบอื่น คิดดูง่าย ๆ ก็ได้ครับว่าประเทศแถบนี้มีประชากรกันน้อย ๆ ซะเมื่อไหร่ ดังนั้นการมา reprint หนังสือเพื่อจำหน่ายให้กับคนกลุ่มแถบนี้ก็กอบโกยกำไรได้หลายเหมือนกันนะครับ ที่เขาทำได้ก็เพราะว่าจำนวนผู้รู้ภาษาอังกฤษและจำนวนผู้ที่ศึกษาด้านคอมพิวเตอร์นั้นมีปริมาณมาก เอาแค่ reprint และจำหน่ายแค่อินเดียผมก็ว่าน่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำกันแล้ว เพราะนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ตาม University หรือเรียนใน College ต่าง ๆ ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์ นอกจากจะมีตำราให้เลือกมากมายแล้ว ยังราคาถูกอีก เล่มหนา ๆ ที่ขายในบ้านเราเป็นพัน ๆ ไปอยู่ที่โน่นเหลือเล่มละ 200 หรือ 500 ก็มี อาจจะเป็นเพราะค่าครองชีพที่นี่ไม่สูง และค่าจัดพิมพ์ถูกกว่าบ้านเรา

สำหรับเรื่องของคุณภาพกระดาษนั้นก็บอกได้ว่าไม่ดีเท่าของจริง แต่จริง ๆ แล้วจากที่เปิดดูมาหลายเล่ม คุณภาพการพิมพ์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากต้นฉบับ คือ ได้เนื้อหาเท่ากัน แต่ต่างกันที่กระดาษ ท่านต้องการเนื้อหาหรือต้องการคุณภาพกระดาษล่ะ บางเล่มหยิบปกขึ้นมาเปิดดูข้างในแล้วยังดูไม่ออกเลยว่าเป็นการ reprint ดังนั้น การ reprint นี่ไม่ใช่เอาหนังสือมา Xerox ขายนะครับ มันเหมือนกับการเอาไฟล์หนังสือที่เป็น PageMaker มาทำเพลตและตีพิมพ์ใหม่ที่นี่และใช้กระดาษที่นี่นั่นเอง สาระที่สำคัญอยู่ที่เนื้อหาข้างในครับ มันทำให้เขาไปได้ไกลกว่าเราหลายเท่า ในขณะที่หนังสือคอมพิวเตอร์เมืองไทยราคาเล่มละ 300-500 แต่ที่อินเดียเล่มละประมาณ 150-600 แต่เป็น Text Book คอมพิวเตอร์ในระดับแนวหน้าเลย ท่านก็คิดดูแล้วกันว่าจะไม่ให้เขาไปไกลกว่าเราได้อย่างไร ด้วยเหตุผลข้อเดียวครับ ประชากรของเขาอ่านภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจ จึงสามารถอ่านตำราพวกนี้ได้ กลุ่มเป้าหมายของตลาดเลยมีเยอะพอที่จะมา reprint หนังสือไงครับ ถัดจากถนน M.G. เดินตามถนน Brigade มาเรื่อย ๆ จนถึง Resiency Road (FM Cariappa Road) เลี่ยวซ้ายมาก็จะเจอ Crossword ซึ่งจะแปลกกว่าที่อื่น เพราะจะมีแอร์และเก้าอี้ให้นั่งด้วย สำหรับผมแล้วเวลาอยากได้หนังสือแต่ไม่อยากเสียตังค์ซื้อ ก็จะใช้เวลาครึ่งวันที่เหลือไปนั่งแช่แอร์อยู่ที่นี่ล่ะครับ เดินหยิบหาอ่านวันละเล่มสองเล่ม ตกเย็นก็เดินกลับบ้านตังค์อยู่ครบแต่ได้ความรู้กลับมาเพียบ จะว่าไปแล้วการตกแต่งร้านของ Crossword นี้สว่างและเจิดจรัสกว่าร้านอื่น ๆ หรือถ้าไปเดินช็อปปิ้งที่ Kolamangala ไปเดินห้างฟอรั่มก็จะมีร้านหนังสือขนาดใหญ่ชื่อว่า Landmark ที่นี่มีหนังสือทุกประเภท อยากได้เล่มไหนไปเลือกเอาได้ นอกจากนี้ยังมีบันไดเชื่อมต่อไปยังชั้นบน ซึ่งจะเป็นที่จ่ายตังค์ และขายพวก CDROM เพลงและภาพยนต์ และถ้าจะไปเดินเที่ยวแถว ๆ Ghandi Nagar ก็มีมีร้านหนังสืออีก 4-5 ร้าน เช่นSapna Book House หรือ USB.Publisher และก็ร้านหนังสือ Law Book อีกหลายร้าน เอาเป็นว่า เดินไปช็อปปิ้งที่ไหนก็จะต้องมีหนังสือให้หยิบอ่านที่นั่นล่ะ ถ้าให้พูดถึงร้านหนังสือก็คงจะพูดไม่หมด ยกตัวอย่างหนังสือคอมพิวเตอร์ให้ดูกันสักนิดดีกว่า ว่าราคาหนังสือนั้นมันเท่าไหร่กันบ้างเมื่อเทียบกับราคาที่นำเข้ามาขายในเมืองไทย

* 1. หนังสือ CCNP, CCDA, CCNA, CCSP (Cisco Secure VPN) ของ Cisco ราคาอยู่ที่ Rs. 499
* 2. CISCO Cookbook, 918 pages. Rs.700
* 3. Designing Embedded Hardware. 324 pages. Rs.250
* 4. Developing Bio-informatics Computer Skills, 504 pages. Rs.225
* 5. MCSE (MS Certified System Engineering) Rs.159
* 6. MCSE 4 in 1 Study System. Rs. 799
* 7. Java Head First (O'Reilly) Rs.450.
* 8. Enterprse JavaBeans (Covers EJB 2.1&EJB 2.0) 4th Editionm 798 pages. Rs.500
* 9. Programming in C#. Rs.175.
* 10. Data Structure Principles and Funamentals. Rs. 159.
* 11. C# Tips and Techniques. Rs.374
* 12. Java Networking (Wrox) Rs.559.
* 13. Compiler by C. Rs.399
* 14. Java Servlet Programming. 2ndEd. 786 pages. Rs.500
* 15. ASP.NET (Wrox) Rs.590.
* 16. Pratical VoIP Using VOCAL. Rs.450
* 17. Oracle Applications Server 10g Essentials, 292 pages. Rs.275.
* 18. Virtual Private Network, 2ndEd. 288 pages. Rs.150
* 19. Programming Flash Communication Server, 824 pages. Rs.500
* 20. Linux Desktop Hacks, 384 pages. Rs.350

ใครที่เป็นคอหนังสือคงจะน้ำลายหกแล้วล่ะสิครับ สำหรับผมคอแห้งจนเหือดหมดแล้ว ยิ่งที่นี่หนังสือ .NET และภาษา C/C++/Java เยอะมาก หนังสือคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไปเช่น Office/Word/XP ก็มี แต่ที่เมืองไทยผมว่าดีกว่าครับ เพราะสไตล์การใช้งานของคนไทยจะเป็นที่รู้กันดีว่าจะใช้งานเอกสารประเภทไหน ใช้ทำอะไร อย่างหนังสือสอน C/C#/Java หรือด้าน Networking/Linux ที่นี่ก็มีเยอะ แต่ต้องขอบอกว่าซื้อหนังสือคนไทยดีกว่าครับเพราะอธิบายเป็นภาษาไทย ยกเว้นต้องการเทคนิคบางอย่างที่ไม่มีบอกเป็นภาษาไทย นี่ล่ะถึงน่าซื้อมาเก็บไว้ และจากการที่ผู้เขียนเองอยู่ในวงการหนังสือมา พอได้มาเปรียบเทียบแล้วก็พบว่าหนังสือของไทยเขียนได้ละเอียดไม่แพ้กันเลยครับ บางเล่มของไทยเราอธิบายได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป แต่ที่น่าซื้อก็เห็นจะเป็นหนังสือชั้นสูงที่เจาะเฉพาะทาง เช่น Mobile Networking, การเขียน Java บนมือถือ หรือ Embed System ก็มี สำหรับหนังสือด้าน Computer Science มีให้เห็นทั่วไปครับไม่ว่าจะเป็น Neural Network, AI, ANN (Artificial Neural Network), Digital Signal Processing, Image Processing และ Data Structure มีทั้งแบบที่เขียนโดยคนอินเดียและแบบ reprint ก็มีให้เลือกหลายเล่มและน่าซื้อมาก รายละเอียดของประเภทหนังสือนี้คงจะพูดได้ไม่หมด ขอยกมาพูดต่อในบทต่อ ๆ ไปก็แล้วกัน.

และนอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ด้านคอมพิวเตอร์เช่น English Speaking/ Book of English Conversation หรือ Dictionary ที่นี่จะถูกมาก หนังสือ English Grammar ดี ๆ เขียนโดยคนอินเดียราคาเล่มละ Rs.100 หนังสืออ่านเล่นอย่างพ่อมดน้อยแฮรี่ก็มีให้หยิบอ่านกันเล่มละ Rs.280 ถ้าซื้อแบบใหม่แกะกล่องนะครับ แต่ถ้าไม่ต้องการซื้อหนังสือมือหนึ่ง หนังสือมือสองก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่สำหรับหนังสือคอมพิวเตอร์มือสองนั้นหาไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เพราะแค่มือหนึ่งนี่ก็ราคาถูกอยู่แล้ว คงไม่ต้องถึงกับหาแบบมือสอง ร้านหนังสือมือสองหรือ Used Books Shop นั้นจะมีให้เห็นทั่วไปในบังกาลอร์ เดินไปตามถนนบางทีเจอวางขายติด ๆ กัน บ้างก็เป็นร้าน บ้างก็แค่วางบนเสื่อ โดยมากจะเป็นหนังสือนิยายและหนังสืออ่านทั่ว ๆ ไปเช่น Big Fish, I took your cheese หรือหนังสือนิยายของ Steven King, James Patterson, Robin Cook, Dan Brown จะเยอะมาก ๆ และที่สำคัญราคาถูกกว่าหนังสือใหม่ครึ่งต่อครึ่งเลย เช่น หนังสือของ Robin Cook เรื่อง ABDUCTION ถ้าไปซื้อตามร้านจะอยู่ที่ 320 รูปี แต่ถ้าซื้อจากร้านมือสองก็แค่ 80-95 บาท สภาพยังดี ๆ อยู่เลย บางเล่มอย่าง Jurassic Park ภาคหนึ่งแค่ 70 บาทเองเพราะเป็นหนังสือเก่า พ่อมดน้อยแฮรี่ ราคาเล่มละไม่เกิน 100 รูปี และหนังสือบางเล่มพอมา reprint ในอินเดีย ราคาก็ยิ่งถูกลงไปอีก คนอินเดียนี่ชอบอ่านหนังสือกันครับ แต่ถ้าหนังสือเก่า ๆ บางร้านเขาก็จะเขียนเอาไว้ว่า "PICK ANY RS.20" คือ ทุกเล่ม 20 รูปี หรือบางเล่มก็ 10 รูปีก็มีแล้วแต่ความหนาของหนังสือ

สำหรับการชำระเงินเวลาซื้อของนั้น ถ้าเป็นตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ สามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิตได้ด้วย อย่างบัตรเครคิตธนาคารกรุงศรีอยุธยาหรือกสิกรไทยที่มีโลโก้ VISA หรือบัตรเดบิตที่มีโลโก้ Visa Electron ก็จะช่วยทำให้ไม่ต้องพกเงินสดติดตัวมาก หลาย ๆ ร้านไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือหรือร้านขาย CD เพลงจะรับจ่ายด้วยบัตรพวกนี้ได้หมด สังเกตป้ายหน้าร้านหรือสอบถามเขาก็ได้ครับ แต่ขั้นต่ำของการจ่ายด้วยบัตรเครดิตรู้สึกว่าจะเป็น Rs.250 ครับ ซึ่งก็อาจจะแล้วแต่บางที่ก็ได้ อันนี้ก็ต้องไปสอบถามที่ร้านก็แล้วกัน และถ้าหากเที่ยวจนเงินหมด ก็ไม่เป็นไรนะครับ บอกทางบ้านให้โอนเงินเข้าบัญชีที่มี Visa Electron อยู่ และไปกดเงินที่ตู้ ATM ที่มีโลโก้นี้ได้เลย อย่างผมไปกดเงินมา 3000 รูปี พอหักจากบัญชีจริง ๆ ที่เป็นเงินบาทก็แค่ 2,800 บาท เพราะเงินของเราแข็งกว่านิดหน่อย ดังนั้น ถ้าเลือกไปตอนเงินบาทแข็งกว่าเงินรูปี ก็จะดีไม่น้อยเลยครับ