วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย-13 : เรียน English ที่นี่เป็นอย่างไร

เรียน English ที่นี่เป็นอย่างไร
"How about learning English in Bangalore"

เมื่อมาอยู่ที่นี่ การหาที่เรียนคอมพิวเตอร์กับการเรียนภาษาอังกฤษที่อินเดียนี้ก็เป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากเลยทีเดียว มีหลายสถาบันที่เปิดสอนในราคาที่ไม่แพง บางที่ก็ราคาถูกเดือนละไม่ถึงพันแต่อาจจะไม่มีมาตรฐาน สามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่มาลงโฆษณาครับ

โรงเรียนที่ผมไปเรียนนี้ก็คือ London School of Speech อยู่แถว ๆ ทะเลสาบ Ulsoor โรงเรียนนี้เปิดมานานหลายสิบปีแล้ว มีหลายสาขาด้วยกันในบังกาลอร์ ค่าเรียนที่นี่ถือว่าแพงกว่าหลาย ๆ ที่ในบังกาลอร์ด้วยกัน อันนี้เป็นมุมมองของคนอินเดียเองที่เขาบอกมา แต่มีคนมาเรียนเยอะ บ้างก็ไปที่อื่นแล้วก็กลับมาเรียนที่นี่เหมือนเดิมก็มี เพราะมีมาตรฐานมากกว่า อาจารย์ผู้สอนจะจบมาทางด้านภาษาโดยตรง สำเนียงดีเลยล่ะครับ

รูปแบบการเรียนที่นี่มีทั้งเรียนเป็นกลุ่ม (GP : Group class) และก็แบบเรียนเดี่ยว (ID : Individual class) เรียนกันสัปดาห์ละ 6 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ผู้เรียนที่จะเรียนเดี่ยวจะต้องมาตกลงเวลากับเจ้าหน้าที่ว่าอาจารย์ท่านใดว่างช่วงไหน ถ้าว่างตรงกันก็มาเรียนในช่วงนั้นได้ ที่นี่จะมีอาจารย์สอนแบบเดี่ยวหลายท่าน และมีห้องเรียนแบบกลุ่ม 1 ห้อง มีอาจารย์ประจำอยู่หนึ่งคน การนับเวลาเรียนจะนับเป็นคลาส เดือนหนึ่งจะเรียนได้ทั้งหมด 25 ครั้ง (หรือ 25 คลาส) ค่าเรียนแบบกลุ่มจะอยู่ที่เดือนละ Rs.750 เรียนวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เป็นการเรียนสนทนาและเรียนพวกศัพท์ต่าง ๆ สำหรับการเรียนเดี่ยว จะนับเป็นคลาสเหมือนกัน คลาสละหนึ่งชั่วโมง จะเรียนสองคลาสในวันเดียวกันก็ได้ไม่ว่ากัน อาจารย์ผู้สอนเขาไม่ว่าอยู่แล้ว ค่าเรียนก็จะแพงไปตามระเบียบขึ้นอยู่กับระดับที่เรียน ก็ประมาณ Rs. 1,750 แต่ตอนนี้ราคาอาจจะมีการปรับขึ้นนะครับ ตอนที่ผมมานี้ก็ปรับราคาขึ้นไปอีก 250 (แต่เงินเดือนผู้สอนยังเท่าเดิม) และก็ยืดเวลาการจบออกไป คือ จะต้องเรียนกลุ่มให้ได้ 50 คลาส และเรียนเดี่ยวให้ได้ 100 คลาส จึงจะได้ประกาศนียบัตรกลับบ้าน

นอกจากนี้แล้ว เรายังเลือกได้อีกว่าจะให้สอนเฉพาะด้าน เช่น ด้านการเขียนรายงาน (Report Writing), Business Communication หรือ TOEFL, IELTS หรือจะเจาะจงเรื่องไหนเป็นพิเศษก็คุยกับอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรงเลยก็ได้ อย่างบางคนก็เห็นเอาหนังสือ TOEFL ให้ทำกับอาจารย์ก็มี เรื่องการเรียนแบบตัวต่อตัวนี้จะมาเล่าให้ฟังอีกครับ คนไทยที่มาเรียนที่นี่ก็นับได้ว่าไม่มากนัก อย่างเดือน ๆ หนึ่งที่ผมนับได้ก็ประมาณสิบคน และต่างคนก็เรียนเดี่ยวคนละรอบ ดังนั้น จึงได้ผลค่อนข้างดีเลยทีเดียวอาจารย์ก็บอกมาว่าโดยมากคนไทยจะมีปัญหาในเรื่องของ Pronunciation คือลิ้นแข็ง ก็มาปรับที่นี่กันเยอะ หลาย ๆ คนก็มาเรียนภาษาอย่างเดียว บางคนเรียนที่เดลลี แต่ลงมาเรียนที่นี่ตอนปิดเทอมก็มี ผมได้คุยกับคนไทยบางคนที่มาเรียนที่นี่ ไม่ได้เรียนเดียวกันกับผมนะครับ เขาบอกว่าอยากได้การเขียนมากกว่า เพราะเราเรียน Grammar มาจากเมืองไทยพอสมควรแล้ว ที่ๆ เขาเรียนอยู่สอนแต่แกรมม่า ไม่มี Writing เลย ผมก็บอกว่าให้ลองมาคุยกับอาจารย์ที่นี่ดู เรียนเดี่ยวสัก 3 เดือน 6 เดือน ขอ Writing อย่างเดียวก็น่าจะให้ผลดีกว่า

การมาเรียนครั้งนี้ผมโชคดีที่ได้คลาสเรียนเดี่ยวกับ อ.สุชิลา อารูมูกัม (Shushila Arumugham) ต้องไปเรียนที่บ้านของแก เพราะปีนี้แกบอกทางโรงเรียนว่าขอพัก แต่โรงเรียนก็ส่ง นร. มาเรียนกับแกเรื่อย ๆ ดีหน่อยที่บ้านอาจารย์อยู่ใกล้กับโรงเรียน เดินไป 300 ม. ก็ถึงแล้ว อาจารย์ท่านเกิดที่มุมไบ แต่มาอยู่ที่นี่เนื่องมาจากค่าครองชีพที่มุมไบสูงขึ้น และแกก็อยากอยู่ในเมืองที่มีสภาพอากาศดี ๆ เพราะอายุมากแล้ว แต่หลัง ๆ แกบอกว่าบังกาลอร์นี่ก็เริ่มที่จะค่าครองชีพสูงขึ้นแล้วเหมือนกัน การจราจรเริ่มเหมือนกับมุมไบเข้าไปทุกวันแล้ว แต่ถึงแกจะอายุมาก แต่ก็พูดเจื้อยแจ้วเลยนะครับ เอาง่าย ๆ แกพูดทั้งชั่วโมงเลยก็ว่าได้ ช่วงแรก ๆ แกจะให้เราฝึกเขียนและพูด เพราะแกจะดูการใช้ภาษาและดูแกรมม่า พอได้สักพักแกก็ถามว่าอยากเจาะด้านไหน ผมก็บอกว่าอยากได้ด้านการเขียนมากกว่า ตั้งแต่วันนั้นมา แกจะทบทวน Grammar ให้ทุกวัน อะไรที่เราไม่แน่ใจในเวลาในงานจริง ๆ ก็จะเอาไปถามแก และทุกวัน แกก็จะให้การบ้านเป็น Essay มา เช่น TV & Reading, Pollution พอไปได้สักพักก็เริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Do clothes make a man?, How to make a soup, An important day in my life, Pocket Money แกก็จะตรวจคำผิด เติม adject, adverb ให้ตามความเหมาะสม พอเริ่มหมดมุข แกก็จะให้เราพูดแทน เช่น เล่าเรื่องขำขันให้แกฟังวันละ 1 เรื่อง แค่นั่นล่ะ เราก็ต้องเดินหาหนังสือขำขันมือสอง หรือไม่ก็เอาตลกไทย ๆ ไปเล่าให้แกฟัง พอเล่าไม่ถูกก็เขียนลงสมุด แบบนี้ แบบนี้ แกจะช่วยเช็คคำผิดและการใช้ศัพท์ของเราให้ บ้างก็จะเรียนและถกปัญหาตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ปัญหาเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษของคนอินเดีย, ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ แกจะถามถึงเมืองไทยและก็เปรียบเทียบกับอินเดียให้ฟังนับว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว

และก็การที่ผมเขียน Essay นี่ล่ะครับ ดันไปเข้าหูอาจารย์ใหญ่ว่าผมเรียน Writing แกก็เลยบอกว่าผมเป็น Advanced Student ไม่ได้มาเรียนในระดับ Basic พอตอนทำเรื่องของใบประกาศ แกก็บอกให้ผมจ่ายเพิ่มย้อนหลัง 3 เดือนที่ผ่านมาก่อน ตอนนั้นเลยวุ่นวายกันยกใหญ่ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้เอามาครับ เพราะผมเอาเงินไปซื้อหนังสือกลับบ้านหมด และผมก็คิดว่าประกาศคงจะไม่สำคัญมากนัก ในประกาศจะบอกแค่ว่าเราได้มาเรียนที่นี่ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน แต่ไม่ได้บอกผลการเรียนอะไร และอีกอย่างหนึ่งก็คือคนอังกฤษ, อเมริกาหรือคนสิงค์โปร์ก็พูดภาษาอังกฤษกันได้ไม่เห็นต้องมีประกาศนียบัตรกันสักใบ ดังนั้น เลยไม่ได้จ่ายเพิ่มอะไร เรียนวันสุดท้ายเสร็จตอนเย็นก็บินกลับบ้านเลย แบบนี้ต้องบอกว่า ที่อินเดียนี่เอาแน่ไม่ได้ครับ อะไรที่เราว่าไม่น่าจะพลาด ยังพลาดแบบคาดไม่ถึงได้เลย ดังนั้น ชีวิตการเรียนที่นี่จึงเป็นชีวิตที่สนุกไปอีกแบบครับ หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังในบทต่อ ๆ ไปครับ