วันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย ไอทีอินเดียเริ่มสะดุด

ไอทีอินเดียเริ่มสะดุด


ปัจจุบันอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียเริ่มมีปัญหา เพราะระบบการศึกษาของอินเดียไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ
หลังจากที่ประเทศอินเดียสามารถสร้างความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมไอทีมาได้เกือบสองทศวรรษ โดยมีความเจริญเติบโตจนสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ และมีแนวโน้มว่าความเจริญเติบโตของด้านอุตสาหกรรมไอทีจะสามารถเติบโตได้ในระดับยักษ์ใหญ่ของเอเชียและของโลก

แต่เร็ว ๆ นี้กลับเกิดปัญหาสะท้อนกลับก็คือ จากความเจริญเติบโตนี้ทำให้ประเทศอินเดียไม่สามารถวางแผนผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับความเจริญเติบโตได้ทัน และขาดการวางแผนที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อสังเกตว่า อินเดียสามารถผลิตวิศวกรได้ถึงปีละ 400,000 คน สำหรับโลกอุตสาหกรรมไฮเทค แต่มีเพียง 100,000 คน เท่านั้น ที่สามารถทำงานได้

นายโมฮันดาส บาย ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทอินโฟซิสเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า “ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนแรงงาน แต่เป็นเรื่องการขาดบุคลากรที่มีการฝึกอบรมอย่างดีพอ”

แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีพลเมืองกว่าพันล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้และสามารถติดต่อกับโลกตะวันตกได้

แต่ระบบการศึกษาของอินเดียนั้นมีปัญหา จากการที่นักศึกษามักจะเรียนทางทฤษฎีในชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับฝึกฝนเพราะมีเงินไม่พอที่จะสร้างห้องปฏิบัติการและนักศึกษาห่างจากสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรม ปัญหาก็คือ อุตสาหกรรมไฮเทคนั้นเติบโตเร็วมากจนกระทั่งประชาชนพลเมืองอินเดียจำนวนมากตามความต้องการแรงงานผู้เชี่ยวชาญไม่ทัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทเอชเชนเจอร์ (Accenture) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาไอทีชั้นนำของโลก ซึ่งผู้เขียนก็เคยเป็นผู้บริหารบริษัทนี้มาก่อนในเมืองไทย มีความต้องการจ้างที่ปรึกษาถึง 8,000 คนใน 6 เดือนในอินเดีย และบริษัทไอบีเอ็มต้องการบุคลากรถึง 50,000 คน ภายในปี 2010 แต่ระบบการศึกษาในอินเดียก็ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพได้ทัน

ซึ่งในระยะหลังนั้นบริษัทชั้นนำของโลกเหล่านี้ซึ่งหันไปลงทุนที่ประเทศโปแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

แต่อีกด้านหนึ่งของปัญหาก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้กลับไปส่งผลดีต่อโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรมด้านวิชาชีพด้านไอทีให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น ซึ่งก็คือ การฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาที่ได้รับปริญญาแล้วก่อนที่จะไปทำงานกับอุตสาหกรรมไอทีจริง ๆ ซึ่งมีทั้งงบประมาณจากภาครัฐ และทางบริษัทเอกชนที่เริ่มขยายกิจการเหล่านี้ได้อย่างจริงจังและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากเพราะมหาวิทยาลัยกลับไม่ใช่คำตอบสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค

ขณะที่เขียนบทความนี้ ชวนให้ผมนึกถึงประเทศไทยเราจริง ๆ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเคยเปรยว่าเราขาดแคลนแรงงานด้านไฮเทคเลยทำให้บริษัทเหล่านี้หันไปลงทุนประเทศอื่น และผมก็เคยเขียนวิจารณ์ในคอลัมน์โลกาภิวัตน์ในช่วงนั้นว่า น่าจะมาจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านไอซีทีมากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้คนเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไอทีมากเหลือเกิน แต่มักจะไปเป็นเสมียนหรือเลขานุการ ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ หรือนักวิเคราะห์ระบบ นี่ขนาดประเทศเราธุรกิจด้านไอทียังต่ำต้อยกว่าประเทศอินเดียมาก

ก็ไม่พูดประชดประชันให้น้อยใจหรอกนะ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจผิด

แต่กำลังคิดถึงคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งนักคิดและนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษแต่เชื้อสายยิวเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน ชื่อ เบนจามิน ดิสราเอลไล (Benjamin Disraeli) ได้กล่าวไว้ว่า

“ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน” หรือ Upon the education of the people of this country,the fate of this country depends. ผมจำได้ไม่ลืม.

แหล่งข้อมูล:ผศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์