วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อินเดีย-04 : สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนไป (ดูให้ดี คนที่เราจะไปด้วยให้ข้อมูลดีหรือเปล่า)

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนไป

ถ้าท่านวางแผนที่จะไปเรียนต่อ หรือไปเทคคอร์สระยะสั้น 3 เดือนหรือหนึ่งปีที่อินเดีย ถ้าเดินทางไปเองอาจจะไม่สะดวกนัก แต่ถ้าท่านติดต่อบริษัทที่ทำงานด้านหาสถานที่เรียนจะสะดวกมากครับ เพราะไม่ต้องหาที่อยู่เอง พออยู่ได้คล่อง ๆ สักเดือนสองเดือน ค่อยไปหาที่อยู่ใหม่เองก็ได้ แต่ก็จะต้องพิจารณาให้มาก ๆ (อันนี้ขอเน้นเลย พิจารณาให้มาก ๆ)

ตัวผู้เขียนเองคิดที่จะเดินทางไปเองเหมือนกัน แต่ก็เปลี่ยนใจ เพราะเที่ยวบินจะบินไปถึงบังกาลอร์ตอนดึก ประมาณสามทุ่มกว่า ๆ ผมจะต้องผจญปัญหาเรื่องที่ซุกหัวนอนเป็นปัญหาแรก ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาเรื่องที่พัก หาบริษัทที่ทำงานด้านนี้ให้เขาจัดการไปเลยดีกว่า เราจะได้เดินทางเพื่อไปเก็บความรู้ได้อย่างอุ่นใจ ผมติดต่อไปยังหลาย ๆ บริษัทที่สามารถพาผมไปอินเดียได้ อาทิเช่น บริษัททัวร์บ้าง, บริษัทที่ทำด้านการศึกษาบ้าง ติดต่อผ่านทางเว็บไซต์, โทรศัพท์, อีเมล์ และอีกหลาย ๆ ทาง แต่ก็ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนัก บางที่ก็ให้ข้อมูลตามที่ต้องการไม่ได้ เลยไม่มั่นใจในการเดินทางเท่าใดนัก ตรงนี้ขอให้พิจารณาให้ดี ๆ ให้หนัก ๆ อย่าคิดแต่ราคาถูกเข้าว่า บางบริษัทรับปากตกลงดิบดีแล้วแต่ก็ผิดคำพูดก็มี ทำให้ผมต้องรอเสียเวลาเป็นสัปดาห์ ๆ เลย บางบริษัทผมก็ต้องเดินทางไปคุยเพื่อขอรายละเอียดเอง ไม่รับการโอนเงินและส่ง Passport ให้ทางไปรษณีย์ ถ้าผมอยู่เชียงใหม่หรือเชียงราย ผมก็คงจะต้องตีรถมากรุงเทพวันเดียวเพื่อที่จะติดต่อจึงจะได้ไปกัน ดังนั้น การเลือกว่าจะมากับใครจะต้องพิจารณาให้มาก ๆ ดูให้ดีว่าเขาจะดูแลเราอย่างไร เพราะอินเดียไม่ใช่จังหวัดหนึ่งในประเทศไทย แต่เป็นอีกประเทศใหญ่ ๆ ประเทศหนึ่ง ดังนั้น พิจารณาให้ดีครับ การเตรียมตัวอันดับแรก ให้ท่านลิสต์รายการสิ่งที่ท่านอยากรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินทาง การเตรียมพร้อมทุก ๆ อย่าง คิดถึงปัจจัยสี่เข้าไว้ครับ อาหาร, ที่อยู่, เสื้อผ้า, ยารักษาโรค และก็เรื่องของค่าใช้จ่าย ฯลฯ แล้วถามผู้ที่จะพาท่านให้เรียบร้อย หัวข้อที่ผมเตรียมเอาไว้ถามก่อนไปก็คือ

1. ที่พักและความปลอดภัย ถ้าปลอดภัยก็จะดีมาก ไม่ใช่นั้นท่านอาจจะต้องพกเงินหรือ Passport ไว้กับตัว โอกาสหายก็มีได้มากกว่าไว้ที่บ้าน (อันนี้ต้องหากุญแจและโซ่ไปเผื่อเอาไว้ด้วย กันไว้ดีกว่าแก้ครับ)

2. แหล่งหาซื้ออาหาร-น้ำดื่ม หรือซุปเปอร์มาเก็ต อยู่ใกล้ ๆ ที่พักมั้ย

3. ค่าใช้จ่ายที่พัก, ค่าใช้จ่ายในการเรียน, ค่าเดินทาง, มีค่าใช้จ่ายอื่นอีกมั้ยที่จะต้องจ่ายเพิ่ม

4. การกดเงินจากตู้ ATM โดยใช้บัตรเครดิตหรือบัตร Visa Electron, วิธีการสังเกตและวิธีการใช้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หรือแม้แต่การขึ้นเช็คเดินทาง ฯลฯ

5. การขอวีซ่า จะขอแบบวีซ่านักเรียนหรือแบบวีซ่าท่องเที่ยว ถ้าวีซ่าหมดอายุจะต้องเดินทางไปต่ที่ไหน ไปต่อเองหรือจะมีคนไปเป็นเพื่อน เดินทางอย่างไร จ่ายอีกเท่าไหร่ เตรียมเงินเอาไว้ให้พร้อม

6. เมื่อถึงสนามบินแล้วจะเดินทางต่ออย่างไร มีใครมารับ ผู้ที่มารับแต่งตัวอย่างไร ชื่ออะไร เบอร์โทรอะไร ถ้าพลาดจากกันแล้วเราจะติดต่อกันได้อย่างไร

7. การซื้อตั๋วเครื่องบิน จะซื้อไป-กลับเลย หรือจะไปหาซื้อตั๋วกลับเอาแถวนั้น ราคาเท่าไหร่

8. ถ้ามีปัญหาระหว่างอยู่ที่อินเดีย ปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดฟัน, เป็นไข้ แบบนี้จะติดต่อใคร และทำอย่างไร อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก

9. การแลกเงินในกรณีที่เอาเงินดอลล่าร์ไป จะไปหาแลกได้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่สนามบิน หรือจะแลกที่สนามบินก็ได้

10. เรื่องของการสมัครเรียน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการสมัคร, รูปถ่าย, ทรานสคริปต์, จะต้องสำเนาไปที่ใบ

11. โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไปเรียน ก.พ. รับรองหรือไม่

12. ถ้าท่านส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนประจำ ลูกหลานของท่านมีปัญหาส่วนตัวอะไรบ้าง เช่น กินอาหารยาก, เป็นโรคประจำตัว, อุปนิสัย, ติดเกมคอมพิวเตอร์, ชอบหนีเรียน ฯลฯ อันนี้ต้องแจ้งให้กับทางผู้ที่จะดูแลทราบล่วงหน้า เพื่อที่จะได้หาทางรับมือให้พร้อม

13. เรื่องอื่น ๆ เช่น หากมีปัญหาสามารถติดต่อเพื่อน ๆ คนไทยมีมั้ย..

การหาที่พักเองในเมืองบังกาลอร์คงจะค่อนข้างยาก ถ้าเราไม่เดินถามหรือไม่มีผู้ติดต่อให้ ที่พักนี้อาจจะเป็นบ้านว่าง ๆ เปิดให้เช่า ซึ่งโดยมากราคาจะสูงและต้องจ่ายล่วงหน้าหลายเดือน เช่น 6-10 เดือนเป็นต้น ถ้าอยู่นาน พร้อมทั้งมีค่าประกันของเสียหายด้วย แต่ถ้าบริษัทที่ติดต่อเราบอกว่าจะให้เราไปอยู่กับคนอินเดียที่นั่นก็อาจจะถูกหน่อย แต่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกมากนัก เขาอาจจะจุกจิกเราในเรื่องของการใช้น้ำไฟ และอาหารการกินอาจจะลำบากถ้ากินอยู่กับเขา แต่ถ้าไปคนเดียวหรือไปแค่ 2-3 คน หาห้องพักจะดีกว่า โดยมากมักจะเป็นบ้านที่มีห้องว่าง ๆ นั่นล่ะครับ เขาเปิดให้เช่า ราคาก็จะอยู่ประมาณ 3,000-5,500 บางที่ก็รวมน้ำไฟแล้ว บางที่ก็ไม่รวม ถ้าท่านไปเพื่อเรียนก็ควรจะหาที่พักใกล้ ๆ ที่เรียน เพราะถ้าเอาแค่ที่พักราคาถูกเข้าว่า พอบวกค่าเดินทางไปเรียนแล้วกลับกลายเป็นว่าพอ ๆ กัน อีกทั้งผจญกับความไม่สะดวกเรื่องอาหารการกินอีก ที่พักที่ผมเช่าอยู่เป็นห้องแบ่งให้เช่า เจ้าของบ้านเป็นลุงกับป้าและก็ลูกชาย แกสองคนใจดีมาก ต้องบอกว่าบริษัทที่ผมติดต่อหาบ้านให้ผมได้ดีมากเลย และที่สำคัญคือแถวนี้ปลอดภัย ช่วงสัปดาห์แรก ๆ เวลาไปไหนผมจะเอา passport และของมีค่าติดตัวไปตลอด แต่ต่อมาผมก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าที่นี่ปลอดภัย ผมเก็บของมีค่าเอาไว้ในตู้ ล็อกกุญแจเรียบร้อย แค่นี้ก็ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจแล้วครับ ไม่มีใครเข้ามายุ่งวุ่นวายเลย เจ้าของบ้านแกไม่มาจู้จี้ผมเลย บางวันตากเสื้อไว้ ฝนตกแกก็เก็บเข้ามาให้ด้วย น่ารักมาก ๆ เลย ต้องบอกว่าหายากครับที่จะเจอที่พักแบบนี้ และแถว ๆ ที่พักผมนี้ก็มีวัดและสถานที่ทางศาสนาฮินดูอยู่รอบ ๆ เด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ อายุประมาณไม่เกิน 15 ปีจะเยอะมากเป็นพิเศษ วิ่งเล่นกันขวักไขว่เลย ตอนเจอเจ้าของบ้านครั้งแรก แกบอกว่าขออย่างเดียวคือ แกไม่ชอบคนสูบบุหรี่กินเหล้า และไม่ให้มีการพาใครมาเอะอะโวยวายปาร์ตี้ในห้องหรือเปิดเพลงเสียงดัง ถ้าเป็นเลดี้มาเที่ยวบ้านก็จะต้องให้กลับก่อนค่ำ เพราะนี่เป็นธรรมเนียมทางศาสนาของเขา ดังนั้นผมเลยอยู่ได้อย่างสบายใจเป็นพิเศษ โดยมากคนไทยเราก็มีความเป็นกันเองและนอบน้อมอยู่แล้ว เจอหน้าก็ยกมือสวัสดี ยิ้มให้ ทักทายกับเจ้าของบ้าน ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาแบบนี้ เขาก็จะปฏิบัติต่อเราดีมาก ๆ เหมือนกับเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน เวลาโผล่หน้าเข้าไปคุยกับเจ้าของบ้าน เขาก็จะมีขนมหวานและผลไม้มาแบ่งให้เรื่อย ๆ กล้วยบ้าง, มะม่วงบ้าง และก็จะถามโน่นถามนี่เกี่ยวกับเมืองไทย และไม่มายุ่งเรื่องส่วนตัวของเรา ไม่มาจุกจิกเรื่องห้องหรือเรื่องการใช้น้ำไฟอะไรเลย จะใช้เท่าไหร่ก็ใช้ไป แต่ถ้าไม่อยู่ก็ขอให้ปิดไฟปิดน้ำ เข้าออกได้ตลอดเวลา เพราะเขาจะให้กุญแจหน้าบ้านและกุญแจห้องเอาไว้ ถ้าเราให้ความเกรงใจและอัธยาศัยดีต่อเจ้าของบ้านแล้ว เขาก็จะให้ความเกรงใจเราตอบกลับมา

บอกได้เลยว่าการมาอยู่ครั้งนี้ผมพอใจกับที่พักมากเป็นพิเศษ และในการหาที่พักนี้ ถ้าหาได้อยู่ใกล้กับแหล่งของกินก็จะดีมาก ๆ ไม่ต้องเดินหอบของพะรุงพะรัง ท่านจะต้องถามทางบริษัทหรือผู้ที่พามาให้ดีในเรื่องของอาหารว่ามีอาหารแบบไหน เพื่อน ๆ คนไทยบางคนก็อยู่ห่างไกล ต้องซื้อของกลับบ้านทุกวันก็มี บางคนก็ได้ไปอยู่ในแถบที่มีแต่ร้านอาหารราคาแพง ๆ ต้องกินอาหารมื้อใหญ่ ๆ ทุกมื้อ ถ้าท่านอยู่แค่เดือนสองเดือนคงจะไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่นาน ๆ อย่าง 6 เดือนหรือมาเรียนเป็นปี ๆ ทางออกในเรื่องอาหารก็คือ ทำกับข้าวกินเอง, เตรียมอาหารสำเร็จรูปไป หรือไม่ก็จะต้องหัดกินอาหารอินเดียให้เป็น อย่างน้อยก็เพื่อประทังชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ (Eat to live) ดังนั้น การอยู่ที่นี่จึงเป็นการฝึกให้เป็นคนอดทน เรียนรู้การยอมรับสังคมรอบข้าง เรียนรู้ความสุขและความทุกข์ในคราวเดียวกัน พ่อแม่ที่ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ พอกลับมากินผักผลไม้เก่งขึ้นก็มี เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ตัดสินใจและยืนได้ด้วยตัวเอง พร้อมที่จะเป็นผู้นำครอบครัวในอนาคตต่อไป เอาล่ะครับ ในเรื่องของอาหารการกินนี้ เดี๋ยวเรามาว่ากันต่อในบทต่อ ๆ ไปดีกว่า